รีวิวหนังสือ » 5 ข้อคิดจากหนังสือ วิธีชนะมิตรและจูงใจคน

5 ข้อคิดจากหนังสือ วิธีชนะมิตรและจูงใจคน

2 ตุลาคม 2024
16   0

วิธีชนะมิตรและจูงใจคน

หนังสือ วิธีชนะมิตรและจูงใจคน (How to Win Friends and Influence People) โดย เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) เป็นหนังสือพัฒนาตนเองที่ได้รับความนิยมอย่างสูงมาอย่างยาวนาน ถึงแม้จะตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1936 แต่หลักการและแนวคิดต่างๆ ภายในเล่มยังคงมีความทันสมัยและเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตและการทำงานในปัจจุบัน

1. สรุป 3 เทคนิคสำคัญในการปฏิบัติต่อคนอื่น

1) หมั่นเห็นใจผู้อื่น และลดคำติเตียนลง

เพราะเราต้องเข้าใจเสอมว่ากำลังคุยอยู่กับมนุษย์ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ไม่ใช่เหตุผล และการติเตียนคือการจุดประกายไฟแห่งความหยิ่งทะนง และมีแต่จะนำมาไปสู่ความฉิบหาย

2) จงอย่าเยินยอผู้อื่น แต่ให้ยกยอผู้อื่นจากใจจริง

เยินยอ คือ การทำโดยไม่บริสุทธิ์ใจ เป็นการพูดเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ คำพูดที่มีออกมาจากไรฝัน แต่การยกยอ คือ การทำโดยบริสุทธิ์ใจ ชมผู้อื่นจากใจจริง เป็นคำพูดที่ออกมาจากหัวใจและปราศจากการเห็นแก่ตัว

3) พูดในสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการ ไม่ใช่ที่ตัวเองต้องการ

เริ่มจากลองคิดว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร และเราจะทำยังไงถึงจะรวมความต้องการของเรากับความต้องการของอีกฝ่ายได้แล้วจงปลุกความต้องการของอีกฝ่ายขึ้นมาอย่างแรงกล้าด้วยคำพูดเราคนที่ทำแบบนี้ได้โลกจะอยู่ข้างเขา

2. สรุปวิธีปฏิบัติ 6 ประการเพื่อทำให้ผู้อื่นชื่นชอบเรา

กฏข้อที่ 1: จงเอาใจใส่อย่างแท้จริงต่อผู้อื่น

เราต้องเปลี่ยนสัญชาตญาณที่พยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ทำเพื่อให้ผู้อื่นมาใส่ใจในตัวเรา เป็นการที่เราเอาใจใส่ในผู้อื่น เพราะทุกคนสนใจแต่เรื่องตัวเอง เหมือนที่เวลาดูรูปหมู่ เรามักจะมองหารูปตัวเองก่อนอยู่เสมอ ดังนั้นถ้าอยากผูกมิตร และให้อีกฝ่ายใส่ใจในตัวเราบ้าง เราต้องเป็นคนเริ่มก่อน เริ่มจากการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ผู้อื่นก่อน

กฎข้อที่ 2: ยิ้มอยู่เสมอ

เวลาเจอหน้าทักทายใคร จงยิ้มอย่างร่าเริงให้ทุกคน ทำการยิ้มให้เป็นเรื่องปรกติแล้วเราจะได้รับยิ้มตอบกลับมาจากคนอื่น นอกจากนี้เวลาพูดคุยกับใคร ถ้าใครมาเล่าปัญหาหรือเรื่องราวใดให้เราฟัง จงเริ่มจากการยิ้ม แล้วเราจะพบว่าปัญหาต่าง ๆ ถูกคลี่คลายได้ง่ายกว่าเดิมมาก

กฎข้อที่ 3: จดจำชื่อผู้อื่น ทุก ๆ คนที่ได้พบเจอ

ชื่อเป็นสำเนียงที่หวานที่สุดของมนุษย์ และการจดจำชื่ออีกฝ่ายได้ แม้จะเพิ่งพบเจอกันเพียงครั้งเดียว จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญและเกิดเป็นความรู้สึกเชิงบวกกับผู้พูด

กฎข้อที่ 4: จงเป็นนักฟังที่ดี และจงสนับสนุนให้อีกฝ่ายได้คุยถึงเรื่องของเขา

เพราะอีกฝ่ายหนึ่งจะสนใจในเรื่องของเขามากกว่าเรื่องของเราหรือเรื่องอื่น ๆ อีก 100 เท่า  ดังนั้นเมื่อเริ่มบทสนทนาในครั้งต่อไป จงตั้งคำถามที่อีกฝ่ายจะตอบด้วยความยินดี และจงสนับสนุนให้อีกฝ่ายได้พูดเรื่องราวและความสำเร็จของเขาอย่างเต็มที่

กฎข้อที่ 5: สนทนาในเรื่องที่อีกฝ่ายสนใจ

ถ้าอยากให้คนอื่นชอบเรา ต้องเริ่มบทสนทนาด้วยสิ่งที่อีกฝ่ายสนใจไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจหรือต้องการจะพูดเช่น ถ้าจะไปขายของเขา เราก็ต้องเริ่มบทสนทนาด้วยเรื่องของเขา และถ้าเขาชอบเรา เขาจะถามถึงเรื่องของที่เราจะนำไปขายเขาเอง

กฎข้อที่ 6: จงทำให้ผู้อื่นรู้สึกเป็นคนสำคัญ และจงทำด้วยใจบริสุทธิ์

ทุก ๆ คนล้วนอยากเป็นคนสำคัญ ทุก ๆ คนล้วนอยากให้ผู้อื่นมองเห็นคุณค่าของตัวเองดังนั้นแล้วเราจึงควรปฏิบัติต่อผู้อื่นในแบบเดียวกับที่เราอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อ เราจงให้ในสิ่งที่เราอยากให้ผู้อื่นมอบให้กับเราและจงทำออกไปด้วยใจจริง อย่าเสแสร้ง

3. วิธีปฏิบัติ 12 ประการให้ผู้อื่นคล้อยตามแนวคิดของเรา

กฎข้อที่ 1: วิธีที่ดีที่สุดในการระงับการโต้แย้งได้ คือการหลีกเลี่ยงเพราะเราไม่มีทางเอาชนะการโต้แย้งได้ 9 ใน 10 ของการโต้แย้งลงเอยด้วยการที่ต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นในตัวเองเพิ่มขึ้นไปอีกว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก

ดังนั้นการโต้แย้งจึงมีแต่แพ้กับแพ้ แม้เราจะเป็นฝ่ายชนะการโต้แย้ง แต่อีกฝ่ายที่ถูกทำให้ดูว่าเป็นคนไม่มีเหตุผลและสติปัญญา จะรู้สึกต่ำต้อยน้อยใจต่อชัยชนะของเรา และถูกทำลายความภาคภูมิใจลง

กฎข้อที่ 2: จงเคารพความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง อย่าบอกว่าเขาผิดเป็นอันขาด อย่าโต้แย้ง อย่าตำหนิ อย่าทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเขาเป็นฝ่ายผิดแต่จงใช้ชั้นเชิงในการสนทนา ให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดด้วยตัวเอง เพราะปกติแล้ว เมื่อคนเราทำผิด เราจะยอมรับผิดด้วยตัวเอง และถ้าคนอื่นปฏิบัติต่อเราด้วยความละมุนละไมและถูกกาละเทศะ เรามักจะยอมรับผิดต่อคนผู้นั้นอย่างตรงไปตรงมา

กฎข้อที่ 3: ถ้าเราทำผิด จงยอมรับผิดโดยเร็ว และหนักแน่น เมื่อรู้ตัวว่าผิด เราสามารถพูดถึงความผิดของตัวเองก่อนที่ผู้อื่นจะพูดถึงมันได้อย่าไปโต้เถียงกับผู้อื่นเมื่อเขากำลังต่อว่าความผิดของเรา แต่เราสามารถเข้าข้างเขา แล้วร่วมต่อว่าต่อความผิดนั้นได้ถ้ารู้ว่าอีกฝ่ายกำลังจะพูดอย่างไร เราชิงติเตียนตัวเองไปก่อน อาจจะช่วยลดโทสะของอีกฝ่ายได้

กฎข้อที่ 4: จงเริ่มต้นด้วยมิตรไมตรีเสมอ แม้จะเป็นการพูดกับศัตรู หรือคนที่กำลังเข้ามาหาเรื่องเราแต่การพูดที่ให้เกียรติอีกฝ่าย พูดให้รู้สึกว่าเราเข้าใจอีกฝ่ายและอยู่ข้างเดียวกันจะช่วยบรรเทาความรุนแรงลง และทำให้การสนทนาราบรื่นกว่าเดิมเสมอ

กฎข้อที่ 5: จงเริ่มต้นบทสนทนาให้อีกฝ่ายตอบว่า “ใช่/ ครับ/ คะ/ ถูกต้อง” อย่าเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการให้อีกฝ่ายพูดว่าไม่เห็นด้วยถ้าเป็นศัตรูหรือคนที่มีความเห็นต่างกัน จงพูดในสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันก่อนแล้วเน้นย้ำถึงจุดหมายร่วมที่หนักแน่น ส่วนจุดขัดแย้งซึ่งมักเป็นจุดที่ด้อยกว่านั้นจงหลีกเลี่ยงอย่าได้พูดในตอนเริ่ม

กฎข้อที่ 6: จงปล่อยให้อีกฝ่ายได้พูดเป็นส่วนมาก เรื่องความสำเร็จของเราเก็บไว้บ้างก็ได้ ไม่ต้องเอาไปโอ้อวดอยู่ตลอดจงถ่อมตนเข้าไว้ในเรื่องความสำเร็จของเรา เพราะถ้าเราเอาแต่โอ้อวด อีกฝ่ายจะรู้สึกต่ำต้อยกว่าเรา ดังนั้นจะสนับสนุนให้อีกฝ่ายพูดและเล่าความสำเร็จของเขาเป็นส่วนใหญ่ ถ้าอยากเอาชนะใจเขา

กฎข้อที่ 7: จงทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความรู้สึกว่าความคิดเป็นของเขาอย่าหยิ่งผยองไปกับความรู้สึกภูมิใจว่าตัวเองได้ค้นพบความคิดอันยิ่งใหญ่แล้วแต่ถ้าเป็นเพื่อผลประโยชน์ที่ปลายทางแล้ว จงพยายามทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเขาเป็นเจ้าของความคิดนั้น แล้วเขาจะรู้สึกดีกับทั้งตัวเขาเอง และกับตัวเราแม้ว่าเราจะอยากอยู่เหนืออีกฝ่ายแค่ไหน เราจะต้องถ่อมตน และทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเราอยู่ต่ำกว่าผู้อื่นเสมอ

กฎข้อที่ 8: จงพยายามอย่างสุจริตที่จะมองสิ่งต่าง ๆ ตามแง่คิดของอีกฝ่ายหนึ่งพยายามมองหามุมความคิดของอีกฝ่าย ถ้าอยากจะให้เขาคล้อยตามเราหาเหตุผลว่าทำไมเขาถึงควรทำสิ่ง ๆ นั้นจงอย่าไปพูดแต่มุมมองความคิดของเรา เพราะอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งและการทะเลาะเบาะแว้ง

กฎข้อที่ 9: จงเห็นอกเห็นใจต่อความรู้สึกนึกคิดและความปราถนาของอีกฝ่าย จงลองใส่รองเท้าของผู้อื่น พยายามให้ตัวเองเกิดความรู้สึกเดียวกับอีกฝ่ายเห็นใจเขา สงสารเขา และเข้าใจเขาเพราะแท้จริงแล้วนั่นคือสิ่งพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องการ

กฎข้อที่ 10: จงขอร้องด้วยการพูดให้อีกฝ่ายรู้วึกว่าเป็นเจตนาอันดีงามพูดอย่างให้เกียรติอีกฝ่าย ให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า เรานับถือเขาในฐานะที่เขาเป็นคนสุจริต ซื่อตรงและยุติธรรมและเราอาจเปลี่ยนใจอีกฝ่ายได้เพราะแท้จริงแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนชอบการถูกขอร้องอย่างบริสุทธิ์ใจ

กฎข้อที่ 11: จงแสดงความคิดของเราให้เป็นที่เร้าใจ เพิ่มความตื่นเต้นให้เรื่องที่เราเล่า ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกสนุกและอยากรู้อยากเห็นว่าเรื่องราวที่เราเล่ามันจะเป็นยังไงต่อ ผลลัพธ์ของเรื่องเล่าที่น่าเบื่อกับเรื่องที่เร้าใจแตกต่างกันอย่างมหาศาล

กฎข้อที่ 12: จงพูดท้าทาย เมื่อไม่รู้จะทำยังไงให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการการท้าทายจะทำให้มนุษย์เกิดความมานะ อยากลบคำปรามาสของอีกฝ่าย

4. วิธีปฏิบัติ 9 ประการเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้อื่น เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกบาดหมาง หรือขุ่นเคือง

กฎข้อที่ 1: ถ้าจะพูดตำหนิหรือตักเตือนอีกฝ่าย ให้เริ่มต้นบทสนทนาจากคำยกย่องสรรเสริญที่บริสุทธิ์ใจเพราะไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เมื่อได้รับคำชมเชยก่อนที่จะฟังคำที่ไม่รื่นหู ก็จะยินดีฟังคำตำหนิติเตียนนั้นโดยไม่รู้สึกขุ่นเคืองใด ๆ

กฎข้อที่ 2: จงอย่าเตือนอย่างตรงไปตรงมาว่าเขาผิด พูดชมเชย พูดให้อีกฝ่ายรู้สึกเป็นคนสำคัญ แต่แอบแนบคำติเตียนไว้ภายใน ให้อีกฝ่ายเข้าใจได้โดยไม่ขุ่นเคือง

กฎข้อที่ 3: จงพูดถึงความผิดของเรา ก่อนที่จะไปตำหนิติเตียนคนอื่นเป็นการเน้นยำว่าทุกคนก็มีข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น และเปิดใจให้อีกฝ่ายรับฟังมากขึ้น

กฎข้อที่ 4: จงหลีกเลี่ยงการสั่งตรง ๆ แต่พูดขอความเห็นอีกฝ่ายแทนเพราะไม่มีใครชอบรับคำสั่ง แต่ถ้าขอความเห็นให้อีกฝ่ายได้พิจารณาถึงความผิดของตัวเองเขาคนนั้นจะยอมรับและปฏิบัติตามโดยดีได้ง่ายกว่า

กฎข้อที่ 5: จงกู้หน้าอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่ออีกฝ่ายอาจรู้สึกว่าตัวเองกำลังเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เช่น ถูกไล่ออกจากงานก็จงอย่าสร้างความรู้สึกบาดหมางกันไปมากกว่าเดิม แต่ให้หาเหตุผลที่ทำให้เข้าใจสถานการณ์ โดยหลีกเลี่ยงความรู้สึกแพ้-ชนะ

กฎข้อที่ 6: จงยกย่องสรรเสริญผู้อื่น แม้เขาได้ทำสิ่งใด ๆ ก็ตามดีขึ้นเพียงเล็กน้อยและยิ่งยกย่องสรรเสริญอย่างเต็มที่ เมื่อเขาผู้นั้นทำสิ่งนั้นดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด วิธีจะสร้างแรงผลักดันและกระตุ้นให้อีกฝ่ายยิ่งอยากทำสิ่งนั้นดียิ่งขึ้นไปอีก

กฎข้อที่ 7: จงตั้งชื่อหมาให้เพราะ จงอุปโลกน์ผู้อื่นในสิ่งที่ดีงาม เพื่อให้เขาเป็นไปตามนั้นเพราะถ้าเราคิดว่าคน ๆ นั้นต้องเป็นคนไม่ดี แล้วไปเรียกเขาด้วยสิ่งแย่ ๆ สุดท้ายเขาก็จะทำเรื่องเลวร้ายเหล่านั้นให้เป็นจริง เราจึงควรฝึงมองในสิ่งดีงามของคนอื่น เผื่อวันหนึ่งสิ่งนั้นจะกลายเป็นเรื่องจริง

กฎข้อที่ 8: จงทำให้ความผิดเป็นของง่ายที่จะแก้ไข จงใจกว้างกับผู้อื่นด้วยการให้ความสนับสนุนกับและให้กำลังใจเขา นอกจากนี้เราต้องแสดงออกถึงความเลื่อมใสในความสามารถของเขา และแสดงให้เขาเห็นว่าแม้เรื่องที่ผิดพลาดก็สามารถถูกแก้ไขได้โดยง่าย

กฎข้อที่ 9: จงทำให้ผู้อื่นมีความสุขในการปฏิบัติตามสิ่งที่เราต้องการ เราควรหลีกเลี่ยงการออกคำสั่งหรือการทำให้ผู้อื่นปฏิบัติตามเราโดยไม่เห็นถึงความสำคัญเราต้องแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราต้องการให้เขาทำนั้นสำคัญ และเขาเองก็เห็นด้วยกับความสำคัญนั้น เขาจึงตั้งใจทำอย่างมีความสุขได้

5. วิธีปฏิบัติ 7 ประการที่ทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสุขยิ่งขึ้น

กฎข้อที่ 1: จงอย่าเป็นคนจู้จี้ขี้เอาเรื่อง อย่าคอยแต่จะจ้องหาเรื่องอีกฝ่าย เพราะจะทำให้อีกฝ่ายอยากหลบหนีออกจากความสัมพันธ์

กฎข้อที่ 2: จงอย่าพยายามเป็นเจ้าหัวใจคู่แต่งงานของเราอย่าไปขัดขวางการหาความสุขของอีกฝ่าย เว้นที่ไว้ให้อีกฝ่ายได้มีชีวิตของตัวเองด้วย

กฎข้อที่ 3: อย่าตำหนิติเตียน จนทำให้อีกฝ่ายต้องขายหน้าคนอื่น

กฎข้อที่ 4: จงให้คำยกย่องสรรเสริญอย่างบริสุทธิ์ใจ กล่าวชมอีกฝ่ายในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในทุกวัน เพื่อทำให้เขามีความสุข และตัวเราก็จะมีความสุขตามไปด้วย

กฎข้อที่ 5: จงเอาใจใส่ในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ความสำคัญกับสิ่งเล็กน้อยในทุกเรื่องเพื่อประคับประคองชีวิตการแต่งงานให้ราบรื่น

กฎข้อที่ 6: จงมีกริยาวาจาที่สุภาพอ่อนโยนอยู่เสมอ อย่าทำตัวเป็นคนหยาบช้าและปากร้ายกับอีกฝ่าย

กฎข้อที่ 7: จงศึกษาเรื่องกามารมณ์ที่ดีในการแต่งงาน เพราะเรื่อง sex นับเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตคู่ !

วิธีชนะมิตรและจูงใจคน

รีวิวิสั้น ๆ หลังอ่าน

หนึ่งในตระกูลหนังสือคลาสสิกของ เดล คาร์เนกี ที่เขียนตั้งแต่ปี 1936 !!! นานมากกก เกือบจะ 100 ปีแล้วแต่เนื้อหาไม่เก่าเลย กฎหลายข้อยังคงนำไปใช้ได้จริง แสดงให้เห็นได้ชัดเจนเลยว่าความสัมพันธ์พื้นฐานของมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่ได้เปลี่ยนโดยง่าย

เรียกว่าเป็นหนังสือต้นตำรับ howto ที่กลายมาเป็นหนึ่งในต้นตอของการอ้างอิงถึงในหนังสือ howto ยุคใหม่ ๆ แต่ต้องยอมรับว่าเนื้อหาอ่านยาก เพราะภาษาที่แปลมา บวกกับความไม่คุ้นชินกับบริบทที่มักเป็นเรื่องราวเก่า ๆ ในอดีตอันไกลโพ้น

ถ้าจะให้แนะนำ แนะนำว่าถ้าใครสนใจอยากรู้ต้นฉบับของหนังสือ howto จริง ๆ เล่มนี้ต้องไม่พลาด แต่ถ้าใครอยากอ่านหนังสือ howto ที่อ่านง่ายและเนื้อหารวบรัด เล่มนี้อาจไม่ตอบโจทย์มากนัก

หากคุณต้องการพัฒนาทักษะการเข้าสังคมและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น หนังสือ “วิธีชนะมิตรและจูงใจคน” เป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การอ่านอย่างยิ่ง


ผู้เขียน: Dale Carnegie (เดล คาร์เนกี)
ผู้แปล: อาษา ขอจิตต์เมตต์
จำนวนหน้า: 360 หน้า
สำนักพิมพ์: แสงดาว, บจก.สนพ.
เดือนปีที่พิมพ์: 2009


บทความอื่นที่น่าสนใจ