การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อย ต้นทุนต่ำ ไก่มีสุขภาพดี
การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อย
การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อย (Free-range system) หมายถึง ระบบการจัดการเลี้ยงไก่ที่ปล่อยให้ไก่ได้ออกมาภายนอกคอกหรือโรงเรือนได้อย่างอิสระ โดยเป็นพื้นที่ที่มีหญ้าปกคลุม 5 ตารางเมตร/ไก่ไข่ 1 ตัว ส่วนพื้นที่ในโรงเรือน 1 ตารางเมตร/ไก่ไข่ 4 ตัว ทำให้ไก่ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ เช่น การคลุกฝุ่นการไซร้ขน การจิกกินพืช ผัก แมลง ทำให้ไก่มีความสุข อารมณ์ดี จึงเรียกว่า “Happy Chicken”
พันธุ์ไก่ไข่
ใช้พันธุ์ไก่ไข่ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม กินอาหารในท้องถิ่นได้ดี และไม่ตัดปาก พันธุ์ไก่ไข่ที่นิยมเลี้ยง มีดังนี้
1.ไก่โรดไทย (Rhode Thai) เป็นไก่พันธุ์แท้กึ่งเนื้อกึ่งไข่ลักษณะประจำพันธุ์ ขนลำตัวสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลเปลือกไข่สีน้ำตาล ใช้ประโยชน์ได้ทั้งการเลี้ยงเพื่อให้เนื้อและไข่ อายุเมื่อให้ไข่ฟองแรก 168 วันน้ำหนักเมื่อให้ไข่ฟองแรก 2,045 กรัม อัตราการให้ไข่ 94 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตไข่ 240 ฟอง/ตัว/ปี น้ำหนักไข่เฉลี่ย 55 กรัม/ฟอง น้ำหนักโตเต็มที่ 2.358 กรัม
2. ไก่ไข่ไทยกรมปศสัตว์ ลักษณะประจำพันธุ์ขนลำตัว สีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม ขนปีกสีน้ำตาล สร้อยคอสีน้ำตาลเข้ม ปลายหางมีสีดำ หงอนจักรใหญ่สีแดงสด เหนียงสีแดงใหญ่ ตุ้มหูแดงมีสีขาวเรื่อๆ ปนเล็กน้อย แข้งสีเหลือง ผิวหนังสีเหลือง เปลือกไข่สีน้ำตาลอ่อน อายุเมื่อให้ไข่ฟองแรก 169 วัน น้ำหนักตัวเมื่อให้ไข่ฟองแรก 1,717กรัม อัตราการให้ไข่ 86-90 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตไข่ 290 ฟอง/ตัว/ปี น้ำหนักไข่เฉลี่ย 59 กรัม/ฟอง
3.ไก่ไข่เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร เป็นไก่พันธุ์แท้ ลักษณะประจำพันธุ์มีขนาดเล็ก ขนสีขาว ให้ไข่เร็ว ให้ไข่ดกไข่เปลือกสีขาว มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนอาหารค่อนข้างสูง เพราะมีขนาดเล็กทนร้อนได้ดี เริ่มให้ไข่เมื่ออายุ 4 เดือนครึ่ง – 5 เดือนให้ไข่ปีละประมาณ 300 ฟอง น้ำหนักโตเต็มที่ เพศผู้ 2.2-2.9 ก.ก. เพศเมีย 1.8-2.2 ก.ก.
การจัดการลานปล่อย
หากเลี้ยงไก่พ่อแม่พันธุ์ จำนวน 100 ตัว ใช้โรงเรือนขนาด 50 ตารางเมตร ใช้พื้นที่ปล่อยอิสระ 500 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็นแปลงย่อยได้หลายแบบ ดังนี้
การเปิดประตูโรงเรือน ให้เปิดประตูโรงเรือนเพียงประตูเดียวในแต่ละวันตามรอบการหมุนเวียนแปลงหญ้า
- แบบ 1 ไม่แบ่งแปลงย่อยให้ไก่ออกสู่แปลงหญ้าได้อย่างอิสระในช่วงกลางวัน โดยเปิดประตูสลับด้านให้ไก่ออก
- แบบ 2 แบ่งเป็นแปลงย่อย 2 แปลง ขนาดเท่าๆ กัน ปล่อยไก่เข้ากินหญ้าแปลงย่อยละ 30 วัน
- แบบ 3 แบบแบ่งเป็นแปลงย่อย 4 แปลง ขนาดแปลงย่อยเท่าๆ กันปล่อยไก่เข้ากินหญ้าแปลงย่อยละ 10 วัน
การเลี้ยงลูกไก่ อายุ 0-6 สัปดาห์
การเตรียมรับลูกไก่ : เปิดเครื่องกกรอไว้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง อุณหภูมิกก 32-35 องศาเซลเชียส ละลายวิตามินในน้ำดื่มเตรียมไว้ให้เรียบร้อย
พื้นที่การกก : ลูกไก่ 100 ตัว/ พื้นที่ 1 ตารางเมตร มีแผ่นการ์ดล้อมรอบให้ลูกไก่อยู่ในรัศมีความร้อน
ความชื้น : ควรจัดการภายในโรงเรือนกกให้แห้ง สะอาดไม่เปียกชื้น
การระบายอากาศ : เปิดผ้าม่านเมื่อรู้สึกอบอ้าว มีจุดประสงค์ เพื่อระบายความชื้น และอากาศเสียออกจากพื้นที่กก ส่วนอากาศดีจากภายนอกจะไหลเข้ามาแทนที่
การให้น้ำ : ลูกไก่ควรได้รับน้ำทันทีที่ปล่อยลงพื้นที่กก หลังจากลูกไก่ได้กินน้ำอย่างทั่วถึงแล้วจึงเริ่มให้อาหาร
การให้อาหาร : ให้อาหารที่มีโปรตีนสูง 19 เปอร์เซ็นต์กินแบบเต็มที่ โดยให้ครั้งละน้อย แต่บ่อยครั้ง ทำให้ลูกไก่ได้กินอาหารใหม่และกระตุ้นการกินอาหารได้มากขึ้น
การสุ่มชั่งน้ำหนัก : เพื่อคำนวณหาน้ำหนักเฉลี่ยแล้วนำมาเปรียบเทียบกับน้ำหนักมาตรฐาน ใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรื่องอาหารต่อไป
การเลี้ยงไก่รุ่นถึงสาว อายุ 6 – 16 สัปดาห์
การให้อาหาร : ให้อาหารที่มีโปรตีน 16 เปอร์เซ็นต์ควบคุมอาหารให้ไก่ได้กินประมาณ 85% เพราะไม่เช่นนั้นไก่จะเป็นสาวให้ไข่เร็วเกินไปกว่าอายุที่ควร วิธีการให้อาหารไก่กินตั้งแต่เช้าจนถึงเวลา15.30 นาฬิกา ให้แขวนถังอาหารขึ้น และปลดถังอาหารลงในเช้าวันรุ่งขึ้น ปฏิบัติแบบนี้ทุกวัน
การเลี้ยงไก่ระยะให้ไข่ อายุ 17 สัปดาห์-ปลด
การให้อาหาร : เมื่อไก่ให้ไข่ฟองแรกให้เปลี่ยนอาหารสำหรับไก่ไข่ที่มีโปรตีน 16% จำกัดให้กินประมาณ 120 กรัม/ตัว/วันหากให้อาหารเต็มที่แล้วเปอร์เซ็นต์ให้ไข่ยังต่ำ ให้คัดไก่ที่หยุดให้ไข่ออกจากฝูง ซึ่งมีลักษณะหงอนเหี่ยวเล็กลง สีของหงอนไม่สดใสและเพื่อความมั่นใจให้จับไก่วัดกระดูกเชิงกราน แม่ไก่ที่ให้ไข่กระดูกเชิงกรานจะกว้างมากกว่า 2 นิ้วมือ ส่วนไก่หยุดไข่กระดูกเชิงกรานแคบชิดกันมีความกว้างประมาณ 1 นิ้วมือ
สอบถามรายละเอียดได้ที่
กองงานพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กรมปศุสัตว์โทร. 0 2653 4444 ต่อ 3371 โทรสาร 0 2653 4930E-mail : drasa2@dld.go.th, www.royal.dld.go.th
บทความอื่นที่น่าสนใจ