การเลี้ยงหอยขมแบบธรรมชาติ และการเลี้ยงหอยขมในรูปแบบต่างๆ

การเลี้ยงหอยขมแบบธรรมชาติ และการเลี้ยงหอยขมในรูปแบบต่างๆ

การเลี้ยงหอยขมแบบธรรมชาติ

ในยุคที่เศรษฐกิจผันผวน การมองหาอาชีพเสริมหรืออาชีพทางเลือกที่มั่นคงและยั่งยืนนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในหลายๆอาชีพ และหนึ่งในอาชีพที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบันคือ “การเลี้ยงหอยขม” ไม่ว่าจะเป็น การเลี้ยงหอยขมแบบธรรมชาติ และการเลี้ยงหอยขมในรูปแบบต่างๆ เพราะหอยขมสัตว์เศรษฐกิจตัวเล็กที่สร้างรายได้งาม อีกทั้งยังมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ เนื้อสัมผัสที่กรุบกรอบ และคุณค่าทางโภชนาการสูง ทำให้หอยขมเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง การเลี้ยงหอยขมจึงอีกหนึ่งแนวทางอาชีพที่น่าจับตามองสำหรับผู้ที่สนใจ ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก ดูแลง่าย และสามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่จำกัด บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับการเลี้ยงหอยขมอย่างละเอียด ตั้งแต่การเตรียมบ่อ การเลือกพ่อแม่พันธุ์ การดูแล ไปจนถึงช่องทางการจำหน่าย เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจเริ่มเลี้ยงกันครับ

การเลี้ยงหอยขมสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และทรัพยากรที่มี โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ คือ

1).  การเลี้ยงแบบธรรมชาติ

เป็นการเลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น บ่อ หนอง คลอง หรือร่องสวน โดยปล่อยหอยขมลงในแหล่งน้ำนั้นๆ โดยอาศัยอาหารตามธรรมชาติ เช่น ตะไคร่น้ำ พืชน้ำ และอินทรียวัตถุต่างๆ วิธีนี้ลงทุนน้อย แต่ต้องควบคุมสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำให้เหมาะสม

2). การเลี้ยงในรูปแบบต่างๆ 

เป็นการเลี้ยงในบ่อที่สร้างขึ้น เช่น บ่อดิน บ่อซีเมนต์ หรือบ่อพลาสติก เพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมและจัดการได้ง่ายขึ้น แบ่งย่อยได้ดังนี้

  • การเลี้ยงในบ่อดิน  สำหรับการเลี้ยงหอยขมในบ่อดินนั้นเหมาะสำหรับพื้นที่กว้าง การเลี้ยงแบบนี้มีต้นทุนต่ำ แต่ต้องดูแลเรื่องการรั่วซึมของบ่อ และควบคุมศัตรูตามธรรมชาติ
  • การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์  เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่จำกัด การเลี้ยงรูปแบบนี้นั้นสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ดี แต่มีต้นทุนสูงกว่าบ่อดิน เพราะต้องลงทุนเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย
  • การเลี้ยงในบ่อพลาสติก ข้อดีน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายง่าย แต่ต้องระวังการฉีกขาด และอายุการใช้งานสั้นกว่าบ่อซีเมนต์และบ่อประเภทอื่นๆ

พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์หอยขม หาได้จากไหน?

สำหรับการหาพ่อแม่พันธุ์หอยขมนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็นสองแบบแล้วแต่ความสะด้วยเลยครับ ชึ่งสามารถหาได้ดังนี้

พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์หอยขม

  • การหาจากแหล่งธรรมชาติ สำหรับการหาโดยวิธีนี้จะประหยัดต้นทุน โดยให้เราเลือกหอยขมตัวโต เปลือกหนา สุขภาพดี จากแหล่งน้ำที่สะอาด ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน ตามจำนวนที่เราต้องการได้เลย
  • การซื้อจากฟาร์มเพาะเลี้ยง วิธีนี้จะง่ายแต่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายบ้างเล็กน้อย โดยเลือกฟาร์มที่น่าเชื่อถือ มีพ่อแม่พันธุ์ที่มีคุณภาพ และมีคำแนะนำในการเลี้ยงด้วยจะดีมาก

หลักสำคัญในการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ นั้นควรเลือกหอยขมที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย เปลือกมีสีเข้ม และมีสุขภาพแข็งแรงเป็นพิเศษครับ

ขั้นตอนการเตรียมบ่อสำหรับการเลี้ยงหอยขม

ในการเตรียมบ่อเลี้ยงหอยขมนั้นมีขั้นตอนที่ไม่ค่อยซับซ้อนมากนัก ขึ้นอยู่กับประเภทของบ่อเลี้ยง บ่อแต่ล่ะประเภทก็จะมีขั้นตอนที่ต้องเตรียมแตกต่างกันออกไปดังนี้

  • บ่อดิน  กรณีบ่อใหม่หรือบ่อเก่านั้น ควรขุดบ่อให้มีความลึกประมาณ 50-80 เซนติเมตร หรือปรับบ่อเก่าให้ลึกหน่อย และปรับสภาพดินก้นบ่อให้เรียบ และทาน้ำปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อโรค ให้ดีก่อนนำหอยขมพ่อแม่พันธุ์ลงปล่อยเลี้ยง บ่อดินนี้สามารถเลี้ยงสัตว์นำประเภทอื่นควบคู่กันไปได้ เช่น กุ้ง ปลา เป็นต้น
  • บ่อซีเมนต์และพลาสติก  บ่อประเภทนี้ควบคุมน้ำง่าย กรณีถ้าเป็นบ่อบ่อซีเมนต์ใหม่ ให้ล้างและแช่ปูนใหม่ให้หมดก่อน โดยการนำต้นกล้วยที่หาได้ทั่วไปมาแช่ ประมาณ 7-14 วัน แล้วทำความสะอาดบ่อให้สะอาด และทาน้ำปูนขาวเช่นกัน

เลี้ยงหอยขม

การเตรียมสภาพน้ำและการปรับสภาพน้ำ

ในการเตรียมสภาพน้ำนั้นให้เติมน้ำสะอาดลงในบ่อ ระดับน้ำประมาณ 30-50 เซนติเมตร และใส่พืชน้ำ เช่น ผักตบชวา จอก แหน หรือสาหร่าย เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของหอยขม แล้วปรับสภาพน้ำให้ดีก่อน อาจใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชน้ำ (ควรทำก่อนปล่อยหอยขมลงบ่อ 1-2 สัปดาห์)

การให้อาหารหอยขม

สำหรับหอยขมที่เลี้ยงตามธรรมหรือบ่อดิน อาหารธรรมชาติที่หอยขมกินนั้นจะเป็นพวก ตะไคร่น้ำ พืชน้ำ และอินทรียวัตถุต่างๆ ในบ่อ ส่วนอาหารเสริม สามารถให้อาหารเสริม เช่น รำข้าว ข้าวสุก เศษผัก หรืออาหารปลาดุกเล็กบดละเอียด สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ในปริมาณที่พอเหมาะ โดยการสังเกต ปริมาณอาหารที่หอยขมกิน หากอาหารเหลือมาก แสดงว่าให้มากเกินไป ควรลดปริมาณลง

ข้อดีของการเลี้ยงหอยขม

  • ลงทุนต่ำ ใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่หาเลี้ยงได้ง่าย
  • ดูแลง่าย หอยขมเลี้ยงง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม
  • ใช้น้ำน้อย เลี้ยงในระดับน้ำตื้นๆ ก็ได้แต่น้ำต้องไม่เน่าเสีย
  • ขายได้ราคาดี หอยขมเป็นที่ต้องการของตลาด มีราคาสูง
  • ช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศ หอยขมช่วยกินตะไคร่น้ำและอินทรีย์วัตถุในน้ำ ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น

ทำไมหอยถึงตายระหว่างเลี้ยง?

เป็นปัญหาที่หลายๆ คนที่เป็นผู้เลี้ยงมือใหม่ที่ต้องเจอ ไม่มากก็น้อยแต่แต่งกันออกไป ซึ่งสาเหตุที่หอยขมตายระหว่างเลี้ยงมีหลายประการ พอจำแนกคร่าวๆ ได้ดังนี้ครับ

  • คุณภาพน้ำไม่ดี หรือน้ำสกปรก เน่าหรือขาดออกซิเจน หรือมีสารเคมีปนเปื้อนอยู่ในน้ำนั้นเอง
  • อุณหภูมิน้ำสูงเกินไป อากาศร้อนจัด ทำให้น้ำร้อน หอยขมจะอ่อนแอและตายได้
  • อาหารไม่เพียงพอหรือมากเกินไป หอยขมขาดอาหาร ทำให้ไม่มีพลังงานและตายในได้ หรือให้อาหารมากเกินไปก็สามารถตายได้เหมือนกันเพราะน้ำอาจเน่าได้
  • ความหนาแน่นของหอยขมในบ่อมากเกินไป  ทำให้เกิดการแก่งแย่งอาหาร และคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม

ศัตรูธรรมชาติ เช่น ปลา กบ นก หรือแมลงบางชนิด ที่กินหอยขมเป็นอาหาร

ข้อควรระวังเพิ่มเติม ในการเลี้ยงหอยขมกันบ้างครับ

  • เราควรมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ในบ่อบ้าง เพื่อรักษาสภาพน้ำให้ดีตลอดเวลา และเป็นการกำจัดของเสียก้นบ่อด้วย
  • หมั่นสังเกตอาการของหอยขม หากพบหอยขมมีอาการผิดปกติ เช่น เปลือกแตก หรือไม่เคลื่อนไหว ควรรีบหาสาเหตุและแก้ไขโดยด่วน ชักช้าอาจทำให้หอยขมที่เลี้ยงตายได้ทั้งบ่อครับ

ช่องทางการจำหน่ายหอยขม

เมื่อเลี้ยงหอยขมแล้ว ช่องทางการจำหน่ายถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำผลผลิตไปสู่ลูกค้าได้ ผมขอแนะนำแนวทางการจำหน่ายหอยขมคร่าวๆ ซึ่งทุกท่านอาจนำไปปรับตามแต่ละพื้นที่ได้ตามความเหมาะสม ดังนี้ครับ

  • ตลาดสดและตลาดนัด  เป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง สามารถนำหอยขมไปวางขายเอง หรือฝากขายกับแม่ค้าในตลาด ควรเลือกตลาดที่มีผู้คนพลุกพล่าน และมีกลุ่มเป้าหมายที่บริโภคหอยขม
  • พ่อค้าคนกลาง พ่อค้าคนกลางจะรับซื้อหอยขมจากเรา แล้วนำไปขายต่อให้กับตลาด ร้านอาหาร หรือผู้บริโภคโดยตรง การขายผ่านพ่อค้าคนกลางอาจได้ราคาที่ต่ำกว่าขายเอง แต่สะดวกและรวดเร็วกว่า
  • ตลาดออนไลน์  ในยุคปัจจุบัน ตลาดออนไลน์เป็นช่องทางที่สำคัญในการขายสินค้า สามารถขายผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook, Line, Shopee หรือ Lazada โดยการโพสต์รูปภาพสินค้า ราคา และรายละเอียดต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า
  • ขายส่งให้กับฟาร์มเพาะเลี้ยงอื่นๆ  หากมีปริมาณหอยขมมาก สามารถขายส่งให้กับฟาร์มเพาะเลี้ยงอื่นๆ ที่ต้องการพ่อแม่พันธุ์ หรือหอยขมสำหรับเลี้ยง
  • ขายหน้าฟาร์ม หากฟาร์มตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม สามารถเปิดขายหน้าฟาร์ม เพื่อให้ผู้บริโภคมาซื้อโดยตรง

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ศึกษาข้อมูลและเทคนิคการเลี้ยงหอยขมจากแหล่งต่างๆ เพิ่มเติม www.sarakaset.com เพื่อพัฒนาการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพหากมีคำถามเพิ่มเติมหรือต้องการข้อมูลเฉพาะด้าน สามารถสอบถามได้เลยนะครับ ยินดีให้คำแนะนำอย่างเต็มที่ครับ

ภาพประกอบจาก | Facebook บัวไล แสนสล่า


บทความอื่นที่น่าสนใจ

สูตรน้ำยาไล่นกพิราบ ใช้ได้ผลหายไปนานจนลืม

สูตรน้ำยาไล่นกพิราบ ใช้ได้ผลหายไปนานจนลืม

สูตรน้ำยาไล่นกพิราบ

หลายๆ บ้านที่อยู่ในพื้นที่ ที่มีนกพิราบอาศัยอยู่จำนวนมากนั้น จะรู้ดีว่าบ้านที่เคยสงบและสะอาดนั้นจะเปลี่ยนเป็นบ้านนกพิราบไปแล้ว ด้วยนกพิราบร้องเสียงดัง สร้างความเบื่อหน่ายแถมยังขี้เลอะเทอะเต็มบ้านไปหมด สร้างความเดือดร้อนเป็นอันมาก วันนี้เราเลยหา สูตรน้ำยาไล่นกพิราบ ใช้ได้ผลหายไปนานจนลืม มาฝากกันครับ

เตรียมวัสดุอุปกรณ์ดังต่อไปนี้

1. ผงซักฟอก 2 ช้อนโต๊ะ
2. ไฮเตอร์ 3 ช้อนโต๊ะ (มีกลิ่นแรงติดทนนาน)
3.น้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ
4.น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
5.เกลือ 1ช้อนโต๊ะ
6. น้ำสะอาด 1- 2 ลิตร

วิธีทำ

ผสมทั้งหมดให้เข้ากัน ใส่สเปย์ที่ฉีดพ่นไปฉีดจุดที่มีนกพิราบอยู่แนวรั้ว

😲 สำคัญ นำสูตรนี้ใส่ปืนฉีดน้ำไป ฉีดบริเวณนกพิราบอยู่ ฉีดที่หลังคา ซึ่งข้อดีของการใส่ปืนฉีดน้ำนั้น จะยิงไปได้ไกลยิงโดนนกพิราบแม่นยำมากโดนจุดที่นกพิราบอยู่ หรือ อาจจะนำสูตรนี้ใส่ไปในถุง ปาขึ้นหลังคา ให้ถุงแตก ไล่นกพิราบดีมาก กลิ่นจะติดทนอยู่บนหลังคานานมาก

เทคนิคไล่นกพิราบหลายคนไม่รู้!!!

📌ไล่นกพิราบต้องไล่ตอนเย็นๆ ค่ำค่ำ ซึ่งนิสัยนกพิราบจะบินกลับบ้านตอนค่ำให้ฉีดไล่นกพิราบ เน้นไล่ตอนค่ำค่ำ เพื่อไม่ให้นกพิราบกลับมานอน อาศัยอีกต่อไป ทำตามนี้เลยเห็นผลจริง

Cr.รูปภาพ วิชา วันนี้🥰


บทความอื่นที่น่าสนใจ

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย สร้างรายได้

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย สร้างรายได้

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

เห็ดฟาง จัดเป็นเห็ดเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งเป็นที่นิยมของตลาดและเป็นที่นิยมบริโภค ของบุคคลทั่วไป และมีราคาค่อนข้างสูง ในการเพาะเห็ดฟางนั้น สามารถใช้วัสดุเพาะได้หลายประเภท เช่น ฟางข้าว กากถั่ว ต้นกล้วย ขี้เลื่อยเพาะเห็ดเก่า หรือกากมันสำปะหลัง ขึ้นอยู่กับวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นเห็ดที่ให้ผลผลิตเร็ว ประมาณ 10 – 12 วัน ให้ผลผลิตคุ้มทุน มีรูปแบบในการเพาะหลายรูปแบบ เช่น เพาะเห็ดฟางกองเตี้ย เพาะเห็ดฟางในตะกร้า ขึ้นอยู่กับความสะดวกในแต่ละพื้นที่ การแนะนำในเอกสารนี้เป็น การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

การเพาะเห็ดทำได้หลายวิธีที่นิยมเพาะมี 2 รูปแบบคือ

  • การเพาะเห็ดฟางกลางแจ้ง เช่น การเพาะแบบกองเตี้ย โดยมีแบบพิมพ์หรือไม่มี แบบพิมพ์ก็ได้
  • การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยเป็นวิธีที่ง่ายและได้รับความนิยมกันมาก เนื่องจากเป็นวิธีที่

ประหยัดวัสดุเพาะเห็ด ใช้ระยะเวลาเพาะสั้น จึงสามารถเพาะได้ทุกฤดูกาล ปกติแล้วเกษตรกรจะเพาะในฤดูหลังนา เพราะมีฟางข้าว และตอชัง เป็นวัสดุเพาะเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุที่เหลือใช้มาให้เกิดประโยชน์ เป็นการเพิ่มแหล่งอาหารและเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย เป็นวิธีที่ง่ายและได้รับความนิยมกันมาก เนื่องจากเป็นวิธีที่ประหยัดวัสดุเพาะเห็ด ใช้ระยะเวลาเพาะสั้น จึงสามารถเพาะได้ทุกฤดูกาล ปกติแล้วเกษตรกรจะเพาะในฤดูหลังนา เพราะมีฟางข้าว และตอชัง เป็นวัสดุเพาะเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุที่เหลือใช้มาให้เกิดประโยชน์เป็นการเพิ่มแหล่งอาหารและเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

การเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย

วัสดุอุปกรณ์

  • วัสดุเพาะ เช่น ฟางข้าว กากมันสำปะหลัง เปลือกถั่วเขียว ขี้เลื่อยเก่า อื่นๆ
  • เชื้อเห็ดฟาง อายุ 12 – 14 วัน
  • อาหารเสริม ได้แก่ ละอองข้าวเปลือก + มูลสัตว์ หรือรำละเอียดผสมมูลสัตว์อัตรา 1 : 2
  • พลาสติกใส
  • ไม้แบบ

วิธีดำเนินงาน

  • เอาฟางแช่น้ำประมาณ 8 – 10 ชั่วโมง
  • หมักฟางไว้ 1 คืน
  • เตรียมแปลงเพาะ
  • นำฟางหรือขี้เลื่อยใส่ในแบบพิมพ์
  • กดให้แน่นพร้อมรดน้ำ
  • โรยอาหารเสริม และ เชื้อเห็ดสลับกับการใส่วัสดุเพาะประมาณ 3 – 4 วัน
  • รดน้ำให้ทั่วทุกกองที่เพาะ
  • คลุมด้วยพลาสติก แล้วใช้หญ้าหรือฟางข้าวทับไว้ ประมาณ 3 – 4 วัน
  • รดน้ำ ผูกไม้โค้งหลังกองสูง 30 – 50 ซม. คลุมพลาสติก และทับด้วยฟางข้าวทับอีกครั้ง
  • อีกประมาณ 6 วัน เห็ดเริ่มออกดอก

การเปิดดอก

เมื่อคลุมพลาสติกแปลงเพาะครบ 4 – 5 วัน ให้ทำการขึ้นไม้โค้งเพื่อคลุมแปลงเพาะ หลังจากขึ้นไม้โค้งประมาณ 5 –6วัน ก็สามารถเก็บดอกเห็ดได้

การเก็บผลผลิต

ให้เก็บผลผลิตในช่วงที่ไม่มีแสงแดดและเลือกเก็บเฉพาะดอกที่เหมาะสมเมื่อ เก็บผลผลิตแล้วให้คลุมพลาสติกไว้เหมือนเดิม สามารถเก็บดอกได้ 2 – 3 ชุด

โรค – แมลง และการดูแลรักษา

การเพาะเห็ดฟางส่วนมากจะไม่ค่อยมีโรคเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นแมลงมากกว่าแมลงที่ทำความเสียหายในการเพาะเห็ดฟาง ได้แก่ ปลวก, มด, และสัตว์

การแก้ไข

ควรเลือกสถานที่ที่ปลอดจากแมลงศัตรูเหล่า นี้ ก่อนทำการเพาะควรเตรียมแปลงเพาะ โดยการตากดินประมาณ 3 – 5 วัน และให้โรยปูนขาวให้ทั่วแปลงเพาะก็จะสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง การป้องกันที่ดีที่สุด คือการเลือกสถานที่ที่เหมาะสม และควรสลับที่ในการเพาะทุกครั้ง


บทความอื่นที่น่าสนใจ

ผัดเผ็ดซี่โครงหมู อร่อยเผ็ดจัดจ้าน

ผัดเผ็ดซี่โครงหมู อร่อยเผ็ดจัดจ้าน

ผัดเผ็ดซี่โครงหมู

เมนูอาหารไทยที่รสเผ็ดร้อนสะใจคงต้องยกให้กับเมนู ผัดเผ็ดซี่โครงหมู โดยเฉพาะผัดเผ็ดซี่โครงหมูอ่อนสุดคลาสสิก บอกเลยวิธีทำง่ายมากขั้นตอนการทำก็น้อย ซึ่งบทความนี้เราขอนำเสนอวิธีทำผัดเผ็ดซี่โครงหมู แบบง่ายๆมาเข้าครัวกันเลย

ส่วนผสม ผัดเผ็ดซี่โครงหมู

  • ซีโครงหมู 300 กรัม
  • พริกแกงเผ็ด 2.ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมัน 2ช้อนโต๊ะ
  • น้ำเปล่า 1 แก้ว
  • ซีอิ้วขาว 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
  • ผงปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ
  • ผงชูรส 1 ช้อนชา (ไม่ใส่ก็ได้)
  • ใบมะกรูด 4-5 ใบ

วิธีทำ

1.นำซี่โครงหมูมาหั่นและล้างทำความสะอาด
2.ตั้งกะทะใส่น้ำมัน และพริกแกงผัดให้หอมเติมน้ำเปล่าทีละนิด ผัดให้พริกแกงเข้าเนื้อกับน้ำ
3.เติมหมูลงไป ตามด้วยซีอิ้วขาว เมื่อซี่โครงเริ่มสุกค่อยขนและกลับด้าน (ซี่โครงจะไม่เละและสวย)
4.ปรุงรสด้วย น้ำตาล น้ำปลา ผงชูรส ผงปรุงรส ผัดต่ออีก 5-10 นาที ถ้าน้ำแห้งสามารถเติมน้ำได้
5.ชิมรสตามชอบเติมใบมะกรูด จัดจานเสิร์ฟได้

ใครชอบแทะกระดูกหมูอย่ารอช้า มาทำผัดเผ็ดซี่โครงหมูกันเลย จะโขลกน้ำพริกแกงคั่วเองหรือซื้อน้ำพริกแกงคั่วสำเร็จรูปก็เอาตามสะดวก ถ้าหากเลือกกระดูกหมูอ่อน ๆ มาได้ยิ่งดีจะได้เคี้ยวกรุบ ๆ ทานกับข้าวสวยร้อนอร่อยแน่นอน


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ก๋วยจั๊บน้ำข้นหมูกรอบ รสเข้มข้น กลมกล่อม อร่อยพร้อมวิธีทำ

ก๋วยจั๊บน้ำข้นหมูกรอบ รสเข้มข้น กลมกล่อม อร่อยพร้อมวิธีทำ

ก๋วยจั๊บน้ำข้นหมูกรอบ

ก๋วยจั๊บ คืออะไร?
ก๋วยจั๊บ เป็นก๋วยเตี๋ยวชนิดหนึ่ง ที่ค่อนข้างแตกต่าง จากก๋วยเตี๋ยวชนิดอื่นมากพอสมควร เพราะต้องใช้เส้นก๋วยเตี๋ยวชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า เส้นกวยจั๊บสด แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ กวยจั๊บน้ำข้น และก๋วยจั๊บน้ำใส
สูตรก๋วยจั๊บน้ำข้นหมูกรอบ วิธีทำก๋วยจั๊บ บอกหมดไม่มีกั๊กแน่นอน

ส่วนผสม ก๋วยจั๊บน้ำข้นหมูกรอบ

  • หมูกรอบ 200 กรัม
  • ตับหมู 200 กรัม
  • เลือดหมู 2 ขีด
  • กระเทียมบุบหยาบ 4 กลีบ
  • รากผักชี 2 ราก
  • ไข่ไก่ 2 ฟอง
  • เต้าหู้ทอด 2 ขีด
  • เส้นก๋วยจั๊บสำเร็จรูป 500 กรัม
  • อบเชย 1 ท่อน
  • โป๊ยกั๊ก 2 ดอก
  • พริกไทยเม็ด 2 ช้อนโต๊ะ
  • ซีอิ้วขาว 3 ช้อนโต๊ะ
  • เกลือ 1 ช้อนชา
  • น้ำสต๊อก 2 ลิตร
  • น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
  • ผงพะโล้ 1 ช้อนชา
  • น้ำตาลทราย 3 ช้อนชา
  • ซีอิ้วดำ 2 ช้อนโต๊ะ
  • ซอสหอยนางรม 2 ช้อนโต๊ะ

ขั้นตอนวิธีทำ

  1. ตั้งน้ำให้เดือด ใส่เส้นก๋วยจั๊บลงไป ขณะต้มคนเพื่อไม่ให้เส้นติดกัน สุกแล้วตักขึ้นพักไว้ (เวลาต้มค่อยๆใส่เส้นก๋วยจั๊บทีละแผ่น)
  2. ตั้งกะทะใส่น้ำมันผัดรากผักชี กระเทียม อบเฉย โป๊ยกั๊ก ผงพะโล้ พริกไทย ผัดให้หอม ตามด้วยเครื่องปรุงรส ซีอิ้วขาว น้ำมันหอย น้ำตาล ซีอิ้วดำ เกลือ น้ำปลา น้ำสต๊อกตั้งไฟกลาง
  3. ระหว่างรอให้นำตับหมู ไข่ไก่ เต้าหู้ ลงไปต้มให้สุก แล้วตักออก ตามด้วยใส่เลือดหมูลงไปต้ม
  4. นำตับหมูมาหั่นแต่พอคำพักไว้
  5. ตกแต่งจาน วางเส้นลงไป ตามด้วยไข่ต้มผ่าซีก หมูกรอบ ตับ ฟองเต้าหู้ รดน้ำซุป ตามด้วยต้นหอม ผักชี กระเทียมเจียว เสิร์ฟได้

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

แกงเห็ดใส่หน่อไม้ อาหารอีสานรสชาติแซ่บนัว

แกงเห็ดใส่หน่อไม้ อาหารอีสานรสชาติแซ่บนัว

แกงเห็ดใส่หน่อไม้ รวมผักหลายชนิดไว้ในหม้อ น้ำใบย่านางเข้มข้น ใส่ข้าวเบือ รวมความแซ่บนัวจริง ๆ กับเมนูอาหารอีสานรสชาติแซ่บนัว ทำง่ายๆ ไม่ยุ่งยากอะไร จะมีขั้นตอนการทำอย่างไรบ้างไปดูกันเลย

ส่วนผสมและเครื่องปรุง

  • ใบย่านาง 20 ใบ
  • น้ำเปล่า 3 ถ้วย
  • หอมแดง 5 หัว (60 กรัม)
  • พริกกะเหรี่ยง 25-30 เม็ด (20 กรัม)
  • ตะไคร้ 3 ต้นใหญ่
  • หน่อไม้ต้มสุก หั่นชิ้นพอคำ 170 กรัม
  • ฟักทอง 120 กรัม
  • เห็ดหลาย ๆ อย่าง รวมกัน 160 กรัม (เช่น ออรินจิ เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดชิเมจิ เห็ดเข็มทอง ฯ)
  • เห็ดหูหนู 110 กรัม
  • ชะอมเด็ด 30 กรัม
  • ใบแมงลัก 30 กรัม
  • น้ำปลาร้า 1/2 ถ้วย
  • น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
  • ข้าวเหนียว (ดิบ) 2 ช้อนโต๊ะ
  • พริกกะเหรี่ยง สำหรับโรยหน้าตามชอบ

ขั้นตอนวิธีการทำ

เริ่มแรก … เรามาเตรียมในส่วนของข้าวเบือกันก่อน โดยใช้ถ้วยย่อม ๆ หรือเล็กๆ  มาชัก 1 ใบ ใส่ข้าวเหนียวดิบที่ล้างสะอาดแล้วลงไป ตามด้วยน้ำเปล่าพอท่วม จากนั้นก็พักไว้ประมาณ 1-2 ชม.

ข้าวเบือ คืออะไร? 

การนำข้าวสารดิบ (ข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้าก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่จะใช้ข้าวเหนียว) ไปแช่น้ำจนนิ่ม แล้วเอาไปตำ/ปั่นให้ละเอียด ก่อนที่จะเอาไปปรุงรสในอาหารหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้อาหารนั้นมีความข้นมากขึ้น

ระหว่างนั้นเราก็จะมาเตรียมในส่วนอื่นๆ ของแกงกัน

เริ่มจาก น้ำใบย่านาง กันก่อน โดยการหยิบเครื่องปั่นน้ำผลไม้มา ใส่ใบย่านางลงไป ตามด้วยน้ำเปล่าครึ่งนึง นำไปปั่นให้ละเอียด แล้วกรองเอาแต่น้ำไว้  แต่ถ้าใครไม่มีเครื่องปั่นหรืออยากใช้วิธีดั้งเดิมก็ง่ายมาก นำใบย่านางที่ล้างสะอาดแล้วใส่ในกาละมังใบโตหน่อย จากนั้นก็ใส่น้ำเปล่าตามลงไปพอท่วม ขยำ ๆ ด้วยมือ จนน้ำกลายเป็นสีเขียว ก็กรองเอาไว้แต่น้ำ ส่วนกากใบย่านางก็ทิ้งไป

ขั้้นตอนต่อมาจะเป็นในส่วนของเครื่องแกงกัน ก็ให้เราหยิบครกมา นำใส่หอมแดงกับพริกกะเหรี่ยงลงไป ตำให้แหลกพอประมาณ เสร็จแล้วก็ตักใส่ถ้วยเอาไว้ก่อน  *** บางสูตร บางพื้นที่เค้าใส่กระเทียมด้วย***

จากนั้นเอาข้าวเบือที่นุ่มได้ที่แล้ว (ถ้าไม่นุ่ม ก็ต้องออกแรงตำกันมากหน่อย) มาใส่ครก ตำข้าวให้แหลกจนเป็นเลน แล้วตักใส่ถ้วยรอไว้เหมือนกัน

ในส่วนของผัก เราจะใช้ตะไคร้ หน่อไม้ ฟักทอง เห็ด ชะอม แมงลัก  สำหรับตะไคร้นั้น ให้เราหั่นเป็นท่อนสั้น และ ฟักทอง ให้หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ การทำอาหารไม่มีสูตรตายตัว บางคนก็นิยมหั่นตะไคร้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วตำรวมไปกับเครื่องเลยเลย ก็ได้เหมือนกัน

ในส่วนของขั้นตอนการเตรียมเห็ดนั้นก็ทำไม่ยาก

  • เห็ดหูหนู ตัดโคนทิ้งแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ
  • เห็ดชิเมจิ ตัดโคนทิ้ง แล้วแยกไว้เป็นดอก ๆ แต่ถ้าดอกไหนเล็กมาก ก็แย่เป็นกลุ่ม ๆ ก็ได้
  • เห็ดออรินจิ ก็หั่นไว้เป็นชิ้นพอคำ

ใบแมงลัก เด็ดเอาเฉพาะส่วนใบ ไม่เอาก้านใบ เพราะบางทีเวลาตักกินมันจะพันช้อน แต่ถ้าส่วนไหนใบเล็กมาก เช่นใบตรงยอด ก็เด็ดมาทั้งยอดเลย

ชะอม ถ้าเป็นยอดอ่อน ๆ ให้เด็ดมาทั้งยอดเลย แต่ถ้ายอดอ่อนอันไหนยาวหน่อยก็เด็ดเป็น 2 ท่อน แต่ถ้าอันไหนเป็นยอดที่เริ่มแก่และใบเริ่มบานแล้ว ก็ให้เรารูดเอาเฉพาะใบจากด้านบนลงด้านล่าง ส่วนก้านเราไม่เอา

แกงเห็ดใส่หน่อไม้

เมื่อเราเตรียมทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มาลงมือทำกันกันเลย

  • เริ่มจากตั้งหม้อบนเตา เทน้ำใบย่านางที่เราเตรียมไว้ใส่ลงไป ตามด้วยน้ำเปล่าที่เหลือ เปิดไฟกลางๆ  พอน้ำซุปในหม้อเดือดก็ใส่เครื่องแกงที่เราตำไว้ลงไป ตามด้วยตะไคร้
  • จากนั้นก็ใส่ฟักทองกับหน่อไม้ที่ต้มสุกแล้วลงไป (ถ้าใครใส่มะเขือเปราะ มะเขือยาว ก็หั่นแล้วใส่ไปตอนนี้เลย) พอฟักทองสุกดีก็ใส่เห็ดทั้งหมดลงไปเลย
  • ตามด้วยน้ำปลาร้า คนพอเข้ากัน … แล้วลองตักน้ำซุปขึ้นมาชิมดูว่าเค็มประมาณไหนนะคะ เพราะน้ำปลาร้าแต่ละยี่ห้อแต่ละที่มามันก็จะเค็มหอมต่างกันนิดนึงค่ะ ถ้ายังเค็มไม่พอก็เติมน้ำปลาเพิ่มลงไปได้ (พิมเติมน้ำปลาเพิ่ม 2 ช้อนโต๊ะ) พอเค็มเผ็ดหอมได้ที่แล้ว ก็ค่อยใส่ข้าวเบือลงไป คนให้เข้ากัน แล้วทิ้งไว้ประมาณ 2 นาที
  • พอข้าวเบือสุก น้ำซุปในหม้อแกงของเราก็จะมีความข้นหนืดขึ้นเล็กน้อย ก็ให้เราใส่พริกกะเหรี่ยงที่เหลือ ชะอม และใบแมงลักลงไป  คนให้เข้ากันอีกที ก็ปิดไฟเตา ตักใส่ชาม กินร้อนๆ ได้เลย

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

ปลูกพริกไทยในสวนยาง (ปลูกพืชร่วมยาง) พริกไทยดำ พริกไทยขาว

ปลูกพริกไทยในสวนยาง (ปลูกพืชร่วมยาง) พริกไทยดำ  พริกไทยขาว

ปลูกพริกไทยในสวนยาง

ปลูกพริกไทยในสวนยาง (ปลูกพืชร่วมยาง)

       โดยปกติทั่วไปแล้วเกษตรกรผู้ที่เพาะปลูกยางพารา นั้นจะรู้ดีว่าจะต้องประคบประหงมสวนยางกว่าจะได้กรีดหรือตัดกันก็ประมาณ 7 – 10 ปี  เป็นอย่างน้อยกว่าจะมีน้ำยางมากพอที่จะทำการกรีดยางก็ต้องใช้เวลากันหน่อย และช่วงนี้ราคายางก็ไม่ค่อยสู้ดีนักแต่ก็พอดำรงชีวิตเลี้ยงครอบครัวแบบไม่ดิ้นรนก็คงพอทนได้น่ะหากแต่ว่าเราทำให้สวนยางที่รอคอยวันที่จะกรีดได้ และก็รอวันที่ต้นยางพร้อมงอกเงยมาเป็นรายได้นั้น เราปรับเปลี่ยนสวนยางให้เป็นการเกษตรแบบผสมผสานโดยที่สวนไม่ขาดการมีรายได้เข้ามา ก็คงจะดีไม่น้อยใช่หรือเปล่าเอ่ย

       การปลูกต้นพริกไทยนิยมปลูกกันมากขึ้นเกือบทุกจังหวัดและก็เกือบจะท้องที่ที่ทำการเกษตรหรือทำไร่ทำสวนต่างๆ เพราะว่าพริกไทยปลูกง่ายเติบโตง่ายดูแลรักษาง่าย และที่นิยมปลูกกันปัจจัยหลักคือ ราคาดีนั่นเอง การปลูกพริกไทยหลักๆในการปลูกที่ทราบๆกันก็คือ ต้องมีค้างหรือห้างให้เค้าเกาะเลื้อยเพื่อการเจริญเติบโตของต้นพริกไทยต่อไป การปลูกพริกไทยใช้เวลาในการเจริญเติบโตหรือระยะเวลาที่จะได้ผลผลิตที่สามารถเก็บเมล็ดพริกไทยเพื่อจำหน่ายหรือเพื่อบริโภคได้นั้นใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแล และอายุของต้นพริกไทยก็เช่นกันเมื่อติดดอกออกผลแล้วก็จะมีอายุที่ให้ผลผลิตที่งอกเงยได้ประมาณ 5 หรือ10 ปี ขึ้นไปขึ้นอยู่กับการดูแลเช่นกัน

       วิธีการปลูกต้นพริกไทยในสวนยางนั้นวิธีการก็ไม่ยุ่งยาก วิธีการเหมือนกันกับปลูกพริกไทยโดยการใช้เสาปูนการดูแลรักษาก็เช่นกัน ใส่ปุ๋ยให้น้ำไม่ให้ขาด หาร่มเงาได้จากต้นยางพาราและก็ร่มจากต้นกล้วย การใส่ปุ๋ยในการดูแลที่แสนจะประหยัดและก็ปลอดภัยจากสารเคมีก็คงไม่มีปุ๋ยอะไรที่จะมีคุณภาพเกินไปกว่าปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ต่างๆ

วิธีการปลูกพริกไทยในสวนยางพารา

  • ต้นยางพาราควรมีอายุ 1-2 ปี ไม่เกินนี้ หากต้นยางที่มีอายุมากพร้อมกรีดแล้วไม่แนะนำ คือในช่วงที่รอต้นยางมีน้ำยางมากพอแก่การกรีดยาง ต้นพริกไทยก็มีอายุมากแล้ว และก็ให้ผลผลิตที่ลดหรือน้อยลงก็สมควรแก่เวลาในการโค่นหรือถอนทิ้ง เพื่อปลูกใหม่
  • เลือกต้นกล้าพริกไทยตามสายพันธ์ุที่สมบูรณ์หรือที่ให้ความนิยมก็เห็นจะเป็นพริกไทยพันธ์ุซีลอน,และซาราวัค เป็นต้น เลือกกิ่งพันธ์ุที่แข็งแรงและสมบูรณ์ ยางพาราหนึ่งต้น เหมาะหรือควรปลูกต้นพริกไทยไม่เกินสองหลุม หรือ 2 ต้น
  • วางระบบน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ต้นพริกไทยด้วยระบบมินิสปริงเกลอร์

ปลูกพริกไทยในสวนยาง

การเตรียมการปลูกพริกไทยโดยทั่วไป มีวิธีการดังนี้

  • ทำการไถ่พรวนหน้าดินรอบๆ ต้นยางพารา ให้ลึกประมาณ 1-2 คีบ และห่างจากลำต้นของต้นยางพาราประมาณ 15-20 เซนติเมตร (อาจใช้การขุดด้วยจอบก็ได้เพื่อเป็นการพรวนดินให้ร่วนซุย)
  • ขุดหลุมขนาดกว้างxยาวxลึก 40x60x40 เซนติเมตร โดยให้ปากหลุมห่างจากโคนต้นยางพาราประมาณ 15-20 เซนติเมตร
  • ผสมดินที่ขุดขึ้นมาได้ผสมกับปุ่ยอินทรีย์หรือมูลสัตว์ขุยมะพร้าวหรือปุ๋ยหมักที่มีอยู่ อัตราส่วนในการผสมคือปุ๋ยที่ใช้1ส่วนต่อดิน2ส่วน โกยดินกลบหลุมประมาณครึงหนึ่งของหลุมที่ขุด
  • นำต้นกล้าพริกไทยที่เตรียมไว้ลงปลูกโดยให้ปลายยอดของต้นพริกไทยเอนเข้าหาต้นยางพารา หันด้านที่มีรากหรือตีนตุ๊กแกออกนอกต้นยางพารา
  • ฝังต้นกล้าพริกไทยลงในดินประมาณ 2 ข้อ อีกประมาณ 3 ข้อ ให้อยู่เนือผิวดิน แล้วทำการกลบให้แน่น
  • รดน้ำให้ชุ่ม เป็นการเสร็จขั้นตอนการปลูกต้นพริกไทยโดยใช้ต้นยางพาราเป็นค้างให้เลื้อยแล้ว
  • การให้น้ำสำหรับต้นพริกไทยช่วงแรกๆของการปลูกให้รดน้ำทุกวันหรือวันเว้นว้นแล้วแต่สภาพอากาศว่าร้อนมากแค่ไหนและให้เปลี่ยนเป็น 2-3 วันต่อครั้ง สำหรับต้นพริกไทยที่ให้ผลผลิตแล้วควรให้น้ำ 3-5 วัน ต่อครั้งซึ่งก็ให้ดูจากสภาพอากาศด้วยเช่นกันแต่ถ้าวางระบบน้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ก็ไม่น่ามีปัญหาสามารถรดน้ำได้ตามสภาพอากาศได้

การดูแลรักษาพริกไทย และการเก็บเกี่ยวพริกไทย

  • ต้นพริกไทยไม่ชอบแสงแดดจัดๆต้นยางพาราที่มีอายุุประมาณ 1-2 ปี ก็จะมีกิ่งใบพอเป้นร่มเงาให้กับพริกไทยได้บ้าง แล้วก็ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องที่ต้นพริกไทยต้องเจอกับแดดแรงๆอย่างบ้านเราน่ะ
  • หลังการปลูกต้นพริกไทยสักระยะหนึ่งแล้ว ต้นพริกไทยเริ่มแตกยอดอ่อน 3-5 ยอด ผู้ปลูกต้องคอยตัดยอดอ่อนให้เหลือเพียงยอดที่สมบูรณ์ที่สุดประมาณต้นละ 2 ยอดเท่านั้นและหมั่นคอยตรวจดูอย่าให้ยอดเลื้อยไปรวมกันอยู่เพียงแค่ด้านหนึ่งด้านใดของต้นยางพาราเพียงด้านเดียวเพราะว่าเมื่อต้นพริกไทยถึงอายุที่ให้ผลผลิตได้จะทำให้ต้นยางโน้มไปทางฝั่งเดียวแต่จริงๆแล้วต้นยางที่มีอายุ1-2ปีแล้วลำต้นก็ค่อนข้างแข็งแรงก็ไม่ค่อยมีปัญหาแต่ก็ควรไม่ให้ยอดเลื้อยไปกองอยู่ฝั่งเดียวก็เป็นการดีกว่าใช้เชือกฟางมัดเถาพริกไทยเป็นเปลาะๆห่างกันประมาณ 10-15 เซนติเมตร โดยเปลาะแรกให้มัดอยู่เหนือพื้นดินประมาณ 3 ข้อ
  • เมื่อต้นพริกไทยมีอายุได้ประมาณ 1 ปี ให้ตัดยอดที่สูงเหนือพื้นดินมากกว่า 50 เซนติเมตร ทิ้งไปเพื่อให้แตกยอดมาใหม่และในระหว่างที่เถาของต้นพริกไทยยังไม่เจริญเติบโตมากนักให้ตัดช่อของดอกที่ออกมาระหว่างนั้นออกไป เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ต้นพริกไทยแคระแกรนและโตช้าลง
  • หมั่นพรวนดินคลุมโคนต้นพริกไทยเพื่อป้องกันไม่ให้ต้นโยกคลอนล้มลงได้และยังช่วยกระตุ้นให้รากแผ่กระจากหาอาหารสะดวกยิ่งขึ้น ถอนหญ้าและกำจัดวัชพืชรอบๆต้นยางพาราและต้นพริกไทยเพื่อไม่ให้มาแย่งอาหารจากต้นพริกไทย
  • การใส่ปุ๋ยช่วงแรกของการปลูกควรใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอย่างน้อยปีละ 5 ครั้ง โดยใส่ต่อต้นยางพารา1ต้นต่อปุ๋ยประมาณ 5 กิโลกรัม และควรพูนโคนไปพร้อมกันด้วย
  •  เมื่อพริกไทยอายุถึงแก่การเก็บเกี่ยว คืออายุที่เก็บเกี่ยวได้โดยปกติทั่วไปจะมีอายุอยู่ที่ประมาณ 2 ปีแต่จะให้ผลผลิตได้เต็มที่เมื่อมีอายุได้3ปีขึ้นไป และสำหรับระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวพริกไทยจะใช้เวลาประมาณ 6 ถึง 7 เดือน ตั้งแต่ต้นพริกไทยเริ่มออกดอกจนถึงผลแก่ การเก็บผลของพริกไทยนั้นจะเก็บทั้งรวงโดยทยอยเก็บตามความแก่ของพริกไทย เพราะว่าพริกไทยนั้นจะแก่ไม่พร้อมกันหากต้องการเก็บพริกไทยอ่อน ให้เก็บขณะที่ผลของพริกไทยยังมีสีเขียวอยู่เต็มทั้งรวง ถ้าเป็นพริกไทยดำต้องเก็บรวงที่แก่จัดๆผลมีสีเขียวและแข็งแต่ไม่ถึงกับสุก และหากจะเก็บเพื่อทำพริกไทยขาว แนะนำให้เก็บเกี่ยวเมื่อเมล็ดมีสีเหลืองแดงรวงละ 3-4 เมล็ด

การทำพริกไทยดำ

      นำผลผลิตพริกไทยที่ได้ มาตากแดดประมาณ 1 แดด จากนั้นนำไปนวดให้ผลหลุดจากรวงและตากแดดซ้ำอีกครั้งบนลานซีเมนต์หรือพื้นที่ราบกว้างๆสะดวกๆและสะอาดตากแดดโดยให้ถูกแดดอย่างสม่ำเสมอประมาณ 3 แดดเป็นอย่างน้อย เมื่อผลพริกไทยแห้งสนิทได้ที่จะเปลี่ยนสีเป็นสีดำ ค่อยนำไปล่อนด้วยตะแกรงเพื่อแยกเอาเศษฝุ่นและก็เมล็ดที่ลีบออก ซึ่งพริกไทยสด 100 กิโลกรัม จะได้พริกไทยดำประมาณ 30-35 กิโลกรัม หรือประมาณตามอัตราส่วน 3:1

การทำพริกไทยขาว

      นำพริกไทยที่เก็บมาแล้วนำไปผึ่งแดดพอแค่ให้แห้ง นำเข้าเครื่องนวดเพื่อแยกผลออกจากรวง จากนั้นนำผลพริกไทยไปแช่น้ำในบ่อซีเมนต์หรือถังน้ำ นานประมาณ 7-14 วัน เมื่อครบแล้วให้นำขึ้นจากน้ำที่แช่ มานวดลอกเปลือกออก แล้วนำมาเกลี่ยบนตะแกรงหรือไม้ไผ่ที่มีช่องให้เปลือกหลุดออกจากเมล็ดได้ ใช้น้ำล้างเปลือกออกจนหมด เมื่อล้างทำความสะอาดแล้ว ให้นำไปตากแดดทันที เกลี่ยให้สม่ำเสมอทั่วกัน ตากแดดประมาณ 4-5 วัน จึงจะแห้งสนิทและพร้อมจำหน่ายหรือบริโภคได้แล้ว

การน้ำหมักชีวภาพ 

  • เศษปลา 3  กก.  
  • กากน้ำตาล1 กก.
  • หัวเชื้อ1ลิตร 

      หมักประมาณ 1 เดือน ขึ้นไป เสร็จแล้วน้ำมาผสมน้ำ 1 ลิตรต่อน้ำ 100 ลิตร อนึ่งนี่ไม่ใช่สูตรตายตัวแล้วแต่ใครจะดัดแปลง เอาใว้ฉีดพ่นทางใบหรือปล่อยไปกับน้ำ พืชสามารถดูดซึมเอาไปใช้ได้เร็วครับ

       การปลูกต้นพริกไทยในสวนยางพารานั้นเป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ในระหว่างที่รอให้ต้นยางโตพร้อมกรีดเราก็ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตของพริกไทยเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในระหว่างที่รอ ปลูกต้นกล้วยก็เพื่อเป็นร่มเงาและได้ผลผลิตจากกล้วยเพื่อจำหน่ายก็กลายเป็นรายได้เพิ่มขึ้นมาอีก การเกษตรไม่มีหลักตายตัวขึ้นอยู่กับการพลิกแพลงในการเกษตรให้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อาจจะมีแนวคิดหรือเทคนิคเล็กๆน้อยๆเพิ่มเติมเพื่อให้การทำการเกษตรให้สามารถช่วยให้ชาวเกษตรกรทำแล้ว มีความสุขและสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวไม่ให้เดือดร้อน การปลูกพริกไทยกับต้นยางพาราก็เช่นกันไม่ได้เป็นเทคนิคตายตัว บางท่านหรือบางสวนก็มีการนำต้นพริกไทยไปปลูกกับต้นไม้ชนิดอื่นบ้างเหมือนกันเช่นต้นกฤษณา,ต้นปาล์ม,ต้นมะรุมยังมีเลย แล้วแต่ว่าใครมีต้นไม้แบบไหนที่เหมาะสมและสมควรปลูกพืชชนิดไหนร่วมกันได้ อยู่ได้ทำได้ เราคนไทยเดินตามรอยพ่อหลวงของเรา อยู่แบบพอเพียงและเพียงพออย่างยั่งยืน

ที่มา : สวนพริกไทยตาสม, บ้านน้อย


บทความอื่นที่น่าสนใจ

เทคนิคกระตุ้นยอดอ่อนชะอม ให้แตกในฤดูหนาว

เทคนิคกระตุ้นยอดอ่อนชะอม ให้แตกในฤดูหนาว

เทคนิคกระตุ้นยอดอ่อนชะอม

       หากพูดถึงเรื่องของการปลูกชะอมแล้ว ก็คงมีคำถามต่างๆมากมาย ว่าจะทำอย่างไรให้ต้นชะอมที่เราปลูกนั้น แตกยอดเยอะๆ ซึ่งวันนี้มีคำตอบมาฝาก

       ในการปลูกชะอมจะให้ได้ผลผลิตดีต้องมีการจัดการน้ำให้ดี เพราะถ้าชะอมได้น้ำดี ชะอมจะแตกยอดอ่อนอยู่เสมอ โดยเฉพาะในฤดูฝนจะพบว่าชะออมแตกยอดได้ดีมากกว่าฤดูกาลอื่นๆ

แต่ขณะที่ชะอมกำลังแตกยอดอ่อนก็ควรมีการเสริมปุ๊ขให้แก่ชะอมด้วยเช่นกัน และควรให้ปีขอย่างสม่ำเสมอด้วย โดยเฉพาะปุ๊ขคอกหรือปุ๋ยหมัก และควรให้ประมาณ 15 วันครั้ง ส่วนการให้น้ำควรให้ตามสภาพอากาศ  หน้าฝน อาจไม่จำเป็นต้องให้น้ำเลย ยกเว้นฝนทิ้งช่วงหลายวัน ส่วนหน้าร้อน ต้องให้น้ำทุกวัน มิเช่นนั้นชะอมจะให้ยอดน้อย ยอดน้อยที่สุดจะเป็นหน้าหนาว แต่เรามีวิธีบังคับให้ชะอมแตกยอดในหน้าหนาวได้ด้วยการตัดแต่งกิ่ง หรือว่ารูดใบออกให้มาก จากนั้นจึงอัดปุ๋ยและน้ำเข้าไป ยอดก็จะแตกออกมามากแต่ไม่เท่ากับการแตกยอดในฤดูฝน

การเสริมปุ๋ยให้แก่ชะอม

ขณะที่ชะอมกำลังแตกยอดอ่อนก็ควรมีการเสริมปุ๋ยให้แก่ชะอมด้วยเช่นกัน และควรให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอด้วย โดยเฉพาะปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก และควรให้ประมาณ 15 วันครั้ง

การให้น้ำแก่ชะอม

ส่วนการให้น้ำควรให้ตามสภาพอากาศ หน้าฝน อาจไม่จำเป็นต้องให้น้ำเลยยกเว้นฝนทิ้งช่วงหลายวัน ส่วนหน้าร้อน ต้องให้น้ำทุกวันมิเช่นนั้นชะอมจะให้ยอดน้อย

สูตรปุ๋ยบำรุงชะอมให้ต้นแข็งแรงและแตกยอดดี

  • ปุ๋ยคอกทุกชนิด จำนวน 100 กิโลกรัม
  • เศษใบไม้แห้งหรือฟางแห้ง จำนวน 20 กิโลกรัม
  • กากน้ำตาล จำนวน 3 กิโลกรัม
  • ปุ๋ยยูเรีย จำนวน 1 กิโลกรัม
  • น้ำ จำนวน 20 ลิตร

วิธีการทำ

  • ละลายปุ๋ยยูเรียกับน้ำให้เข้ากัน จนยูเรียนั้นละลายเป็นเนื้อเดียวกันกับน้ำ จากนั้นก็นำกากน้ำตาลเทลงไปผสมกันคนให้เข้ากันให้ดีพักไว้ก่อน
  • นำปุ๋ยคอกมาผสมคลุกเคล้ากับเศษใบไม้และเศษฟางให้เข้ากัน แล้วก็นำน้ำที่ผสมไว้มาราดลงไปในกองปุ๋ยคอกแล้วก็กลับกองปุ๋ยให้ได้นำเสมอกัน
  • หลังจากที่เทน้ำราดและคลุกเคล้าปุ๋ยกับน้ำเข้ากันดีแล้ว ก็ต้องหมักปุ๋ยทิ้งไว้ประมาณ 1เดือน ระหว่างนั้นต้องกลับกองปุ๋ยทุกๆ 7 วันเพื่อให้ความร้อนจะปุ๋ยนั้นคลายออกได้บ้าง
  • การทำปุ๋ยหมักนี้ต้องอาศัยร่มเงาต้นไม้ ให้พอมีแดดร่ำไรเพียงพอ และน้ำที่เทราดลงไปนั้นให้ปุ๋ยมีความชื้นประมาณ 60% หรือสามารถกำเป็นก้อนได้ ไม่ให้แฉะมากเกินไปวิธีการใช้

การนำไปใช้งาน

ใส่รอบโคนต้นชะอมต้นละ 1 กิโลกรัม เพื่อบำรุงต้นชะอมให้แข็งแรง และ ทำให้ต้นชะอมนั้นสามารถแตกยอดอ่อนได้เร็วจะงามขึ้น ควรใส่ให้ทุกๆ 3 เดือน

เทคนิคกระตุ้นยอดอ่อนชะอม

     เทคนิคอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ชะอมแตกยอดได้ดีและได้เร็ว คือ จะใช้น้ำมะพร้าวอ่อน จำนวน 1 – 2 ช้อนแกง ผสมกับน้ำเปล่าจำนวน 20 ลิตรฉีดพ่น ในตอนเช้าหรือตอนเย็น ช่วงปากใบเปิด จะทำให้ชะอมแตกยอดดีมาก

     ชะอมเป็นพืชพื้นบ้านที่ปลูกง่ายปกติปลูกตรงไหนก็ขึ้นงามดีอยู่แล้วเป็นผักสวนครัวรั้วกินได้ แต่ในการปลูกควรระวังเรื่องน้ำท่วมโดนต้นในฤดูฝน การปลูกในที่ราบลุ่มจำเป็นต้องยกร่องขึ้นมา โดยไม่มีการกำหนดระยะห่างระหว่างร่อง ขอให้สามารถเดินทำงานเดินเก็บขอดได้ก็พอ ส่วนระหว่างต้นปลูกห่างประมาณ 1 ศอกต่อต้น ซึ่งก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ไม่ได้มีมาตรฐานบังคับแต่อย่างใด ใครอยากปลูกห่างแค่ไหนก็คงทำได้ “แต่การปลูกชิดจะทำให้ไม่เปลืองเนื้อที่ และหลายๆคนบอกว่า จะทำให้การแตกยอดดี


บทความอื่นที่น่าสนใจ

การทำปุ๋ยหมักแห้งอินทรีย์ชีวภาพ

การทำปุ๋ยหมักแห้งอินทรีย์ชีวภาพ

การทำปุ๋ยหมักแห้งอินทรีย์ชีวภาพ

ปุ๋ยหมักแห้งอินทรีย์ชีวภาพ คือ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ทำให้อยู่ในรูปของแห้ง และผ่านกระบวนการทางชีวภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ปุ๋ยอินทรีย์ คือ ปุ๋ยที่ได้จากวัสดุธรรมชาติ เช่น เศษพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ ทำให้เกิดสารอินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชและดิน

ปุ๋ยชีวภาพ คือ ปุ๋ยที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งมีคุณสมบัติในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ เปลี่ยนฟอสฟอรัสในดินให้อยู่ในรูปที่พืชใช้ได้ และผลิตสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช

ปุ๋ยหมักแห้งอินทรีย์ชีวภาพ จึงเป็นการรวมเอาข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพเข้าด้วยกัน โดยมีลักษณะเป็นปุ๋ยแห้ง ทำให้สะดวกในการใช้งาน การเก็บรักษา และการขนส่ง

วันนี้ผมจะมาสอน การทำปุ๋ยหมักแห้งอินทรีย์ชีวภาพ

ปุ๋ยหมักแห้งอินทรีย์ชีวภาพ คือ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ทำให้อยู่ในรูปของแห้ง และผ่านกระบวนการทางชีวภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้ส่วนประกอบ

  • มูลสัตว์ 1 กระสอบ
  • แกลบ เศษใบไม้,เศษหญ้า หรือซังข้าวโพด 1 กระสอบ
  • ขี้เถ้าแกลบ 1 กระสอบ
  • รำอ่อน 1 กระสอบ
  • น้ำสะอาด 10 ลิตร (ถ้าวัตถุดิบแห้งมากก็สามารถเพิ่มปริมาณขึ้น)
  • หัวเชื้อจุลินทรีย์เข้มข้น 1 ลิตร
  • กากน้ำตาล 2 ลิตร

วิธีทำ

  • นำมูลสัตว์ แกลบ ขี้เถ้าแกลบ และรำอ่อนมาผสมคลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ผสมน้ำกับหัวเชื้อจุลินทรีย์เข้มข้นและกากน้ำตาลให้เข้ากัน รดลงบนกองวัสดุ และผสมให้เข้ากันจนมีความชื้นประมาณ 35% โดยทดลองกำดู จะเกาะกันเป็นก้อนได้แต่ไม่เหนียว และเมื่อปล่อยทิ้งลงพื้นจากความสูงประมาณ 1 เมตร ก้อนปุ๋ยจะแตก แต่ยังมีรอยนิ้วมือเหลืออยู่
  • คลุกเคล้าให้เข้ากันดี ตักปุ๋ยใส่กระสอบ และมัดปากถุงให้แน่น กองกระสอบปุ๋ยซ้อนกันเป็นชั้น ๆ และควรวางเรียงกระสอบให้ห่างกัน เพื่อให้ความร้อนสามารถระบายออกได้ทั้ง 4 ด้าน เพื่อไม่ต้องกลับกระสอบทุกวัน
  • ทิ้งไว้ประมาณ 5-7 วัน ตรวจดูว่ามีกลิ่นหอมและไม่มีไอร้อน ก็สามารถนำไปใช้งานและเก็บรักษาไว้ได้นาน

ที่มา : facebook Jetawich Aitsaro Jetawich


บทความอื่นที่น่าสนใจ

เป็ดไข่มีกี่สายพันธุ์ ที่นิยมเลี้ยงมีพันธุ์อะไรบ้าง?

เป็ดไข่มีกี่สายพันธุ์ ที่นิยมเลี้ยงมีพันธุ์อะไรบ้าง?

เป็ดไข่มีกี่สายพันธุ์

1. เป็ดกากีแคมเบลล์

เป็ดพันธุ์นี้พัฒนาพันธุ์โดย Adele Campbell ในประเทศอังกฤษตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 จนได้เป็นเป็ดพันธุ์ที่ให้ไข่ดกที่สุดในโลกพันธุ์หนึ่ง โดยให้ไข่ประมาณ 300 ฟองต่อปี เป็นเป็ดที่ให้ผลผลิตไข่ดี ไข่ดก ไข่ใหญ่ และเป็นพันธุ์ที่ทนต่อโรค

เป็ดกากีแคมเบลล์ มีขนสีน้ำตาล แต่ขนที่หลังและปีกมีสีสลับอ่อนกว่า ปากสีดำ ค่อนข้างไปทางเขียว จะงอยปากต่ำ ตาสีน้ำตาลเข้ม คอส่วนบนสีน้ำตาล แต่ส่วนล่างเป็นสีกากี ขาและเท้าสีเดียวกับสีขน แต่เข้มกว่าเล็กน้อย

ตัวเมียเมื่อโตเต็มที่หนักประมาณ 2.0-2.5 กิโลกรัม เริ่มไข่เมื่ออายุประมาณ 4 เดือนครึ่ง ตัวผู้จะมีขนบนหัว คอ ไหล่ และปลายปีกสีเขียว ขนปกคลุมลำตัวสีกากีและน้ำตาล ขาและเท้าสีกากีเข้ม เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 2.5-2.7 กิโลกรัม

2. เป็ดอินเดียน รันเนอร์ 

เป็ดพันธุ์นี้พบครั้งแรกในหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซีย ชวา และบาหลี มีขนาดเล็ก ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 1.7-2.5 กิโลกรัม ตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 1.5-2.0 กิโลกรัม เป็ดพันธุ์นี้มีอยู่ 3 สี คือ สีขาว สีเทา และสีลาย

เป็ดพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นประจำพันธุ์ที่แปลกกว่าเป็ดพันธุ์อื่นๆ คือ ขณะยืนคอยืดตั้งตรง ลำตัวเกือบตั้งฉากกับพื้นคล้ายกับนกเพนกวิน ไม่ค่อยบินแต่จะเคลื่อนที่โดยการเดินและวิ่งมากกว่า ปากสีเหลือง แข้งและเท้าสีส้ม

ตัวเมียเริ่มให้ไข่เมื่ออายุประมาณ 4 เดือนครึ่ง ให้ไข่ฟองโตและไข่ทน ให้ไข่ประมาณ 150-200 ฟองต่อปี

3. เป็ดนครปฐม

เลี้ยงกันมากในเขตจังหวัดนครปฐม เพชรบุรี สุพรรณบุรี และในพื้นที่ลุ่มในภาคกลางซึ่งเป็นเขตน้ำจืด ปัจจุบันทำการวิจัยด้านพันธุกรรมและพัฒนาพันธุ์ เพื่อวัตถุประสงค์ให้เป็นเป็ดที่ให้ทั้งไข่และเนื้อ และต้านทานโรค มีขนาดตัวใหญ่กว่าเป็ดกากีแคมเบลล์ ให้ไข่ช้า แต่ให้ไข่ขนาดใหญ่

ตัวเมียมีขนสีลายกาบอ้อย ปากสีเทา เท้าสีส้ม ตัวผู้จะมีสีเขียวแก่ ตั้งแต่คอไปถึงหัว รอบคอมีวงรอบสีขาว อกสีแดง ลำตัวสีเทา ปากสีเทา และเท้าสีส้ม ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 3.0-3.5 กิโลกรัม ตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 2.5-3.0 กิโลกรัม เริ่มให้ไข่เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน

4. เป็ดปากน้ำ

เลี้ยงกันมากในเขตจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ตลอดจนจังหวัดที่อยู่ชายฝั่งทะเลอื่นๆ เลี้ยงง่าย แข็งแรง มีความต้านทานโรคสูง เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยในชนบทและสำหรับผสมข้ามพันธุ์กับเป็ดพันธุ์กบินทร์บุรี จะให้ลูกผสมที่มีผลผลิตสูง เป็นเป็ดพื้นเมืองที่กรมปศุสัตว์อนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ต่อเนื่องมากว่า 30 ปี เป็นเป็ดพันธุ์เล็ก

ตัวเมียมีปาก เท้า และขนปกคลุมลำตัวสีดำ อกสีขาว ส่วนตัวผู้จะมีขนบนหัวและคอสีเขียวเป็นเหลือบเงา มีลำตัวขนาดเล็กกว่าเป็ดนครปฐม ให้ไข่ฟองเล็กกว่า เริ่มให้ผลผลิตไข่เมื่ออายุ 18-20 สัปดาห์ สามารถให้ผลผลิตไข่ประมาณ 280-300 ฟองต่อตัวต่อปี ตัวผู้ของเป็ดพันธุ์พื้นเมืองนิยมนำไปเลี้ยงเป็นเป็ดเนื้อ

5. เป็ดบางปะกง

ได้รับการพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์โดยกรมปศุสัตว์ ปรับปรุงพันธุ์จากเป็ดพันธุ์กากีแคมเบลล์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เลี้ยงและขยายพันธุ์ที่สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์บางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันได้ย้ายฐานการวิจัยและผลิตลูกเป็ดไปที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์ปีก จังหวัดปราจีนบุรี ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์นครสวรรค์ จันทบุรี และสุราษฎร์ธานี

เพศผู้มีขนสีกากีเข้ม หัว ปลายปีก ปลายหางสีเขียวแก่ ปากสีน้ำเงิน ขา แข้งสีส้ม อายุเริ่มผสมพันธุ์ 6 เดือน เพศเมียขนตามลำตัวสีกากีอ่อนตลอดลำตัว ปากสีดำน้ำเงิน แข้งสีดำ เริ่มให้ไข่ที่อายุประมาณ 20 สัปดาห์ น้ำหนักตัวเมื่อให้ไข่ฟองแรก 1,533 กรัม ผลิตไข่ปีละ 301 ฟองต่อแม่

โรงเรือนสำหรับเลี้ยงเป็ดไข่ ลักษณะทั่วไปของโรงเรือนเป็ดที่ดี

  • กันลม แดด ฝน ได้
  • อากาศภายในโรงเรือนสามารถระบายถ่ายเทอากาศได้ดี
  • สามารถรักษาความสะอาดได้ง่าย ไม่มีน้ำขัง
  • พื้นควรเป็นพื้นทราย หรือพื้นซีเมนต์ จะทำให้ทำความสะอาดได้ง่าย และควรปูเปลือกข้าวหรือแกลบเป็นวัสดุรองพื้น
  • บริเวณที่วางอุปกรณ์ให้น้ำควรมีการระบายน้ำที่ดี พื้นโรงเรือนบริเวณที่ให้น้ำควรใช้พื้นไม้ระแนง หรือพื้นสแลทจะสามารถระบายน้ำได้ดี หรืออาจจะทำเป็นแท่นตะแกรงลวดสำหรับวางอุปกรณ์ให้น้ำ
  • สร้างง่าย ราคาถูก และใช้วัสดุก่อสร้างที่มีในท้องถิ่น
  • ไม่ควรเลี้ยงแน่นจนเกินไป อัตราส่วนในการเลี้ยงต่อพื้นที่
    • เป็ดเล็ก 6-8 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร
    • เป็ดรุ่น 5-6 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร
    • เป็ดไข่ 4-5 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร
    • เป็ดเนื้อ 7 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร ทุกขนาด

         โรงเรือนสำหรับเลี้ยงเป็ดไข่จะต้องมิดชิดพอสมควรเพื่อป้องกันสัตว์อื่นเข้ามารบกวน ซึ่งจะทำให้เป็ดตกใจและไข่ลดลงได้ ภายในโรงเรือนนี้จะวางรังไข่ไว้บนพื้นสำหรับเป็ดใช้วางไข่ รังไข่ที่มักใช้จะทำด้วยไม้ขนาด 12×14 นิ้ว สูง 12 นิ้ว ด้านบนและด้านหน้าเปิด ใช้ฟางหรือแกลบรองพื้นรัง อัตราการใช้รังไข่ 1 รังต่อเป็ด 4-5 ตัว ระบายอากาศภายในโรงเรือนเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้เป็ดเครียดจากความร้อนซึ่งอาจจะทำให้เป็ดไข่ลดลงได้ นอกจากนี้ ยังช่วยระบายก๊าซแอมโมเนียออกจากโรงเรือนอีกด้วย

        ระยะเป็ดไข่ ควรให้แสงสว่างวันละ 16-18 ชั่วโมง เพื่อช่วยในการทำให้เป็ดไข่ดีขึ้น การเพิ่มความยาวแสงควรเพิ่มเมื่อเป็ดอายุประมาณ 18 สัปดาห์โดยเพิ่มแสงสัปดาห์ละ 30 นาที จนกระทั่งความยาวแสงอยู่ที่ 16-18 ชั่วโมงต่อวัน การเปิดไฟอาจจะเปิดให้ในช่วงค่ำประมาณ 2 ชั่วโมง และเปิดไฟในช่วงเช้ามืดประมาณ 2-3 ชั่วโมง เรื่องคุณภาพของไข่เป็ดที่ออกมา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์เป็ดนั้นๆ ว่าสายพันธุ์ไหนดีกว่ากัน แต่จะขึ้นอยู่กับอาหารที่ให้เป็ดกินมากกว่านั่นเอง

        สำหรับผู้ที่เป็นมือใหม่สนใจที่จะเลี้ยงเป็ดไข่เป็นอาชีพ แนะนำว่า ควรซื้อมาทดลองเลี้ยงในขั้นต้นอย่างน้อย 100-300 ตัว เพื่อศึกษาอุปนิสัยและทดลองเลี้ยงให้ประสบผลสำเร็จ และสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้เลี้ยงต้องมองดูว่าภายในบริเวณที่จะเลี้ยงมีพื้นที่ทำเล้าและปล่อยให้เป็ดไข่เดินมากน้อยแค่ไหน โดยต้องให้พื้นที่อยู่ในระดับปานกลาง ไม่คับแคบจนเกินไป พื้นที่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในการเลี้ยงเป็ดไข่ และต่อมาให้มองถึงเรื่องการตลาดว่าเมื่อผลิตไข่ออกมาแล้วจะจำหน่ายในรูปแบบไหน โดยต้องส่งให้กับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องโดยที่ไข่เป็ดไม่ขาดช่วง ก็จะช่วยให้ลูกค้าเชื่อมั่น สามารถซื้อขายกันได้เป็นเวลานาน

ที่มา : facebook Jetawich Aitsaro Jetawich


บทความอื่นที่น่าสนใจ