เลี้ยงปลาหมอไทย ในบ่อดินดูแลง่ายโตไว
ปลาหมอไทย เป็นปลาที่รู้จักและนิยมกันอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศไทย เนื่องจากเป็นปลาที่มีรสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ สามารถปรับตัวเจริญเติบโตเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำกร่อยได้ และทนทานต่อสภาพแวดล้อมอื่นๆ ได้มีอวัยวะพิเศษช่วยหายใจ ในปัจจุบัน มีเกษตรกร เลี้ยงปลาหมอไทย กันมากขึ้น แนวโน้มของการเลี้ยงในอนาคตมีลู่ทางแจ่มใส เป็นปลาที่มีความอุดทน สามารถเลี้ยงแบบหนาแน่นทั้งในแบบบ่อทั่วไป หรือนากุ้งในพื้นที่น้ำจืด และหากมีการจัดการบ่อที่เหมาะสมถูกต้องแล้ว จะมีปัญหาเรื่องโรคระบาดน้อย
การเลือกสถานที่เลี้ยง เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้การเลี้ยงปลาหมอไทยประสบผลสำเร็จ โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- ลักษณะดิน ควรเป็นดินเหนียว หรือดินเหนียวปนทราย น้ำไม่รั่วซึมสามารถเก็บกักน้ำได้ 4 – 6 เดือน ไม่ควรเลือกพื้นที่ที่เป็นดินทรายหรือดินปนกรวด
- ลักษณะน้ำ พื้นที่เลี้ยงควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำลำคลองที่มีน้ำตลอดปี หรืออยู่ในเขตชลประทาน หากเป็นพื้นที่ที่อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียวควรพิจารณาปริมาณฝนที่ตกในรอบปีด้วย
- แหล่งพันธุ์ปลา เพื่อความสะดวกในการลำเลียงปลามาเลี้ยง พื้นที่เลี้ยงไม่ควรอยู่ห่างไกลจากแหล่งพันธุ์ปลา
- ตลาด แม้ว่าหลังจากจับปลาขายจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงปากบ่อแต่หากพื้นที่เลี้ยงอยู่ใกล้ตลาด จะทำให้ได้เปรียบในการขนส่งผลผลิตเพื่อการจำหน่าย
การเตรียมบ่อเลี้ยง
เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อผลผลิตที่จะได้รับอันหมายถึงกำไรหรือขาดทุนของผู้เลี้ยง ขั้นตอนการเตรียมบ่อก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยงสามารถทำได้ ดังนี้
1. สูบน้ำออกจากบ่อให้แห้ง
จะช่วยกำจัดศัตรูปลาที่มีอยู่ในบ่อ หลังจากสูบบ่อแห้งแล้ว หว่านปูนขาวในขณะที่ดินยังเปียก ในอัตรา 60 – 100 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อปรับสภาพความเป็นกรด – ด่างของดิน
2. กำจัดวัชพืชและพันธุ์ไม้น้ำที่มีอยู่ในบ่อ
ซึ่งจะเป็นแหล่งหลบซ่อนตัวของศัตรูปลาหมอไทย เช่นปลาช่อน กบ และงู เป็นต้น และทำให้ปริมาณออกชิเจนที่ละลายน้ำลดลง เนื่องจากพืชน้ำใช้ออกซิเจนในการหายใจเช่นเดียวกับปลา นอกจากนี้การที่มีพืชน้ำอยู่ในบ่อเป็นจำนวนมากจะเป็นอุปสรรคต่อการให้อาหารและการวิดบ่อจับปลา
3. การตากบ่อ
จะทำให้แก๊สพิษในดินบางชนิดสลายตัวไปเมื่อถูกความร้อนและแสงแดด ทั้งยังเป็นการฆ่าเชื้อโรค และศัตรูปลาที่ฝังตัวอยู่ในดิน ใช้เวลาในการตากบ่อ 2 – 3 สัปดาห์
4. สูบน้ำเข้าบ่อ
ให้ได้ระดับ 60 – 100 เซนติเมตร ทิ้งไว้ 2 – 3 วันก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยง ใช้อวนไนล่อนสีฟ้ากั้นรอบบ่อให้สูงจากพื้นประมาณ 90 เซนติเมตร เพื่อป้องกันปลาหลบหนีออกจากบ่อ โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตก
การปล่อยปลาลงเลี้ยงและอัตราปล่อย การปล่อยปลาหมอไทยลงเลี้ยงทำได้ 2 วิธี คือ
- การปล่อยปลานิ้ว ปล่อยปลาขนาด 2 – 3 เซนติเมตร ในอัตราความหนาแน่น 50 ตัวต่อตารางเมตร ควรปล่อยลูกปลาลงบ่อในช่วงเข้าหรือเย็น ระดับน้ำในบ่อไม่ควรต่ำกว่า 60 เซนติเมตร ก่อนปล่อยปลาออกจากถุง ควรปรับอุณหภูมิของน้ำในถุงให้ใกล้เคียงกับน้ำในบ่อ เพื่อป้องกันปลาตายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างกะทันหัน โดยการแช่ถุงปลาไว้ในบ่อประมาณ 20 นาที แล้วเปิดปากถุงวักน้ำในบ่อเลี้ยงผสมกับน้ำในถุง แล้วค่อยๆ เทลูกปลาออกจากถุงหลังจากปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงประมาณ 1 เดือน จึงเพิ่มน้ำในบ่อให้ได้ระดับ 1 – 1.5 เมตร
- การปล่อยพ่อแม่พันธุ์ให้วางไข่ในบ่อ ในอัตราปลาเพศเมียต่อปลาเพศผู้เท่ากับ 1 ต่อ 1 ปริมาณน้ำหนัก พ่อแม่ปลา 8 – 10 กิโลกรัมต่อไร่ หรือประมาณ 40 – 75 คู่ต่อไร่ เมื่อปลาวางไข่หมดแล้ว จึงนำกระชังพ่อแม่พันธุ์ขึ้น ปล่อยให้ไข่ฟักเป็นตัว หลังจากลูกปลาฟักออกเป็นตัวประมาณ 4 วัน จึงเริ่มให้อาหารสำเร็จรูปชนิดผง หรือให้อาหาร พวกร่ำละเอียดผสมปลาป่นอัตรา 1 ต่อ 1 เป็นระยะเวลา 3 – 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงให้อาหารเม็ดปลาดุกเล็กพิเศษ หรือปลาสดสับละเอียดและเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดปลาดุกใหญ่ เมื่อปลามีขนาดใหญ่ขึ้น จนได้ขนาดตลาด
อาหารและการให้อาหาร
ให้อาหารเม็ดปลาดุกวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น โดยในช่วงแรกจะให้อาหารเม็ดปลาดุกขนาดเล็กหรือปลาสดสับละเอียด เป็นเวลา 2 เดือน หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดปลาดุกใหญ่ เมื่อปลามีขนาดใหญ่ขึ้นการให้อาหารต้องหว่านให้ทั่วบ่อ และต้องสังเกตการกินอาหารของปลาด้วย ถ้ามีอาหารเหลือมากหรือฝนตกควรลดปริมาณอาหารในมื้อถัดไปให้น้อยลง และไม่ควรให้อาหารจนเหลือ เพราะนอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองแล้ว อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำในบ่อเน่าเสียอีกด้วย
การเปลี่ยนถ่ายน้ำ
ถึงแม้ปลาหมอไทยจะมีความทนทาน อดทน และสามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำที่มีคุณภาพต่ำกว่าปกติก็ตามแต่ก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ เพราะการเปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่จะทำให้ปลามีการกินอาหารดีขึ้น ส่งผลให้ปลาเจริญเติบโตได้ดี ทั้งนี้ การเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกครั้งต้องแน่ใจว่าคุณภาพน้ำที่สูบเข้ามาใหม่ไม่แตกต่างจากคุณภาพน้ำในบ่อเดิมมากนัก และสะอาดเพียงพอที่จะไม่ทำให้ปลาในบ่อเป็นโรคได้โดยในช่วงเดือนแรกยังไม่จำเป็นต้องถ่ายน้ำ แต่จะใช้วิธีเพิ่มระดับน้ำทุกสัปดาห์ หลังจากเดือนแรกแล้วจึงเปลี่ยนถ่ายน้ำเดือนละ 2 – 3 ครั้งโดยเปลี่ยนครั้งละ 1 ใน 3 ของน้ำในบ่อ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำในบ่อด้วย
การป้องกันโรค
โดยทั่วไปโรคปลาหมอไทยมักแพร่ระบาดในฤดูฝน ในทางปฏิบัติเกษตรกรควรใช้เกลือเม็ดหว่านลงในบ่ออัตรา 80 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับการใช้ปูนขาว อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ ละลายในน้ำแล้วสาดให้ทั่วบ่อ อย่างไรก็ตาม โรคที่เกิดขึ้นในบ่อเลี้ยงปลาหมอไทยมักเกิดจากปรสิตภายนอก เชื้อราและแบคทีเรีย ต่อไปนี้
โรคจุดขาว
อาการ ปลาจะมีจุดสีขาวขุ่นขนาดเท่ากับหัวเข็มหมุด กระจายอยู่ตามลำตัวและครีบ
สาเหตุ เกิดจากเชื้อโปรโตซัว ที่กินเซลล์ผิวหนัง
การป้องกันและรักษา เนื่องจากปรสิตชนิดนี้จะฝังตัวอยู่ใต้ผิวหนัง การกำจัดได้ผลไม่เต็มที่ วิธีที่ดีที่สุด คือการทำลายตัวอ่อนในน้ำ หรือทำลายตัวแก่ขณะว่ายน้ำอิสระ โดยการใช้ฟอร์มาลิน 150-200 ซีซีต่อน้ำ 1000 ลิตร แช่ไว้ 1 ชั่วโมง และแยกปลาที่เป็นโรคออกจากบ่อ
โรคจากเห็บระฆัง
อาการ ปลาจะเป็นแผลตามผิวหนังและเหงือก
สาเหตุ เกิดจากเห็บระฆังเข้าไปเกาะตามลำตัวและเหงือก
การป้องกันและรักษา ปรสิตชนิดนี้จะแพร่ได้รวดเร็ว และทำให้ปลาตายได้ในระยะเวลาอันสั้น และมีการติดต่อระหว่างบ่อที่ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน การกำจัดทำได้โดยใช้ฟอร์มาลิน 150-200 ซีซี ต่อน้ำ 1000 ลิตร แช่ไว้ 1 ชั่วโมง
โรคตกเลือดตามซอกเกล็ด
อาการ ปลาจะมีแผลสีแดงเป็นจ้ำๆ ตามลำตัวโดยเฉพาะที่ครีบและซอกเกล็ด ถ้าเป็นแผลเรื้อรังอาจมีอาการเกล็ดหลุด บริเวณรอบๆ และด้านบนของแผลจะมีส่วนคล้ายสำลีสีน้ำตาลปนเหลืองติดอยู่
สาเหตุ เกิดจากปรสิตเซลล์เดียวที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือกระจุก
การป้องกันละรักษา
-
- ใช้เกลือเม็ด 5-10 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1000 ลิตร แช่ไว้ 48 ชั่วโมง
- ใช้ฟอร์มาลิน 25-40 ซีซี ต่อน้ำ 1000 ลิตร หลังจากแช่ยาแล้ว ถ้าปลามีอาการไม่ดีขึ้น ควรเปลี่ยนน้ำยาแล้วพักไว้ 1 วัน จากนั้นจึงใส่ยาซ้ำอีก 1-2 ครั้ง
ตลาดและผลตอบแทน
ในการจำหน่ายปลาหมอไทย จะมีการคัดขนาดปลาซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขนาด มีราคาแตกต่างกันดังนี้
- ปลาขนาดใหญ่ ขนาด 6 – 10 ตัวต่อกิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 55 – 60 บาท
- ปลาขนาดกลาง ขนาด 7 – 20 ตัวต่อกิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 25 – 30 บาท
- ปลาขนาดเล็ก ขนาดมากกว่า 20 ตัวต่อกิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 15 – 20 บาท
บทความอื่นที่น่าสนใจ