การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์
สวัดดีครับ ในบทความนี้เราจะมาพูดถึง การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ กันครับ ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ ปลาดุกในประเทศไทยที่นิยมนำมาเพาะเลี้ยงในอดีตนั้นแต่เดิมมี ๒ ชนิด แต่ที่นิยมในการเพาะเลี้ยงอย่างมากได้แก่ ปลาดุกอุย (Clarias macrocephalus) เป็นปลาพื้นบ้านของไทยชนิดไม่มีเกล็ด รูปร่างเรียวยาว มีหนวด 4 เส้นที่ริมฝีปาก ผิวหนังมีสีน้ำตาล เนื้อมีสีเหลือง รสชาติอร่อยนุ่มนวล สามารถนำมาปรุงแต่งเป็นอาหารชนิดต่าง ๆ ได้มากมาย
ปลาดุก นั้นสามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งในบ่อดิน บ่อพลาสติก และบ่อชีเมนต์ ส่วนชนิดปลาดุกที่เหมาะสมในการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์นั้น ปลาดุกเทศ และปลาดุกเทศอุยเทศ (ลูกผสมระหว่างแม่ปลาดุกอุยกับพ่อปลาดุกเทศ) เหมาะสมมากที่สุด โดยใช้ระยะเวลา ประมาณ 2-3 เดือน (แล้วแต่ขนาดลูกปลาที่ปล่อย) ก็สามารถจำหน่ายได้แล้ว
ขั้นตอนการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์
- อัตราปล่อยปลาดุก
ควรปรับสภาพของน้ำในบ่อที่เลี้ยงให้มีสภาพเป็นกลางหรือเป็นด่างเล็กน้อย แต่ต้องแน่ใจว่าบ่อซีเมนต์จะต้องหมดฤทธิ์ของปูน ลูกปลาขนาด 2-3 ชม. ควรปล่อยในอัตราประมาณ 100ตัว/ตรม. เพื่อป้องกันโรคซึ่งอาจจะติดมากับลูกปลา ใช้น้ำยาฟอร์มาลินใส่ในบ่อเลี้ยง อัตราความเข้มข้นประมาณ 30 ส่วนในล้าน (30 มิลลิลิตร/น้ำ 1 ตัน ในวันที่ปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหารควรเริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น ) - การให้อาหาร
เมื่อปล่อยลูกปลาดุกลงในบ่อแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงที่ลูกปลาดุกมีขนาดเล็ก (2-3 ซม) ควรให้อาหารผสมคลุกน้ำปั้นเป็นก้อนให้ลูกปลากิน โดยให้กินวันละ 2 ครั้ง หว่านให้กินทั่วบ่อโดยเฉพาะในบริเวณขอบบ่อ เมื่อลูกปลามีขนาดโตขึ้นความยาวประมาณ 5-7 ชม. สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้หลังจากนั้นเมื่อปลาโตขึ้นจนมีความยาว 15 ซม. ขึ้นไป จะให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียวหรืออาหารเสริมชนิดต่างๆ ได้ เช่น ปลาเป็ดผสมรำละเอียดอัตรา 9 : 1 หรือให้อาหารที่ลดต้นทุน เช่น อาหารผสมบดจากส่วนผสมต่างๆ เช่นกระดูกไก่ ไส้ไก่ เศษขนมปัง เศษเส้นหมี่ เศษเลือดหมู เลือดไก่เศษเกี้ยว หรือเศษอาหารเท่าที่สามารถหาได้ นำมาบดรวมกันแล้วผสมให้ปลากิน แต่การให้อาหารประเภทนี้จะต้องระวัง เรื่องคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงให้ดี เมื่อเลี้ยงปลาได้ประมาณ 2 เดือนปลาจะมีขนาดประมาณ 125 กรัม/ตัว ซึ่งผลผลิตที่ได้จะประมาณ 10 กก./บ่อ อัตรารอดตายประมาณ 80% - การถ่ายเทน้ำ
เมื่อตอนเริ่มเลี้ยงใหม่ๆ ระดับความลึกของน้ำในบ่อควรมีค่าประมาณ 30-40 ชม. เมื่อลูกปลาเจริญเติบโตขึ้นในเดือนแรกจึงเพิ่มระดับน้ำสูงเป็นประมาณ 50 ชม.การถ่ายเทน้ำควรเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงผ่านไปประมาณ 1 เดือนโดยถ่ายน้ำประมาณ 20 %ของน้ำในบ่อ ๆ วัน/ครั้ง หรือถ้าน้ำในบ่อเริ่มเสียจะต้องถ่ายน้ำมากกว่าปกติ - การป้องกันโรค
การเกิดโรคของปลาดุกที่เลี้ยงมักจะเกิดจากปัญหาคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ดี ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุของการให้อาหารมากเกินไปจนอาหารเหลือเน่าเสีย เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้โดยต้องหมั่นสังเกตว่าเมื่อปลาหยุดกินอาหารจะต้องหยุดให้อาหารทันที เพราะปลาดุกลูกผสมมีนิสัยชอบกินอาหารที่ให้ใหม่ โดยถึงแม้จะกินอิ่มแล้ว ถ้าให้อาหารใหม่อีกก็จะคายหรือสำรอกอาหารเก่าทิ้งแล้วกินอาหารให้ใหม่อีก ซึ่งปริมาณอาหารที่ให้ไม่ควรเกิน 4-5 % ของน้ำหนักตัวปลา - โรคของปลาดุก
ในกรณีที่มีการป้องกันอย่างดีแล้วแต่ปลาก็ยังป่วยเป็นโรค ซึ่งมักจะแสดงอาการ ให้เห็น โดยแบ่งอาการของโรคเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้- การติดเชื้อจากแบคทีเรีย จะมีการตกเลือด มีแผลตามลำตัว และครีบกร่อน ตาขุ่น หนวดหงิก กกหูบวม ท้องบวม มีน้ำในช่องท้อง กินอาหารน้อยลงหรือไม่กิน อาหาร ลอยตัว
- อาการจากปรสิตเข้าเกาะตัวปลา จะมีเมือกมาก มีแผลตามลำตัว ตกเลือด ครีบเปื่อย จุดสีขาวตามลำตัว สีตามลำตัวซีดหรือเข้มผิดปกติเหงือกซีดว่ายน้ำทุรน ทุราย ควงสว่านหรือไม่ตรงทิศทาง
- อาการจากอาหารมีคุณภาพไม่เหมาะสม คือ ขาดวิตามินบีกระโหลกร้าว บริเวณใต้คางจะมีการตกเลือด ตัวคด กินอาหารน้อยลง ถ้าขาดวิตามินบีปลาจะ ว่ายน้ำตัวเกร็งและชักกระตุก
- อาการจากคุณภาพน้ำในบ่อไม่ดี ปลาจะว่ายน้ำขึ้นลงเร็วกว่าปกติครีบ กร่อนเปื่อย หนวดหงิก เหงือกซีดและบวม ลำตัวซีด ไม่กินอาหาร ท้องบวม มีแผล ตามตัว
อนึ่ง ในการรักษาโรคปลาควรจะได้พิจารณาให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจเลือก ใช้ยาหรือสารเคมีสาเหตุของโรค ระยะรักษา ค่าใช้จ่ายในการรักษา
วิธีการป้องกันเกิดโรคในปลาดุกลูกผสมที่เลี้ยง
- ควรเตรียมบ่อและน้ำตามวิธีการที่เหมาะสมก่อนปล่อยลูกปลา
- ซื้อพันธุ์ปลาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าแข็งแรงและปราศจากโรค
- หมั่นตรวจดูอาการของปลาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเห็นอาการผิดปกติต้องรีบหา สาเหตุและแก้ไขโดยเร็ว
- หลังจากปล่อยปลาลงเลี้ยงแล้ว 3-4 วัน ควรสาดน้ำยาฟอร์มาลิน 2-3 ลิตร/ปริมาตร น้ำ 100 ตัน และหากปลาที่เลี้ยงเกิดโรคพยาธิภายนอกให้แก้ไขโดย สาดน้ำยาฟอร์มาลินในอัตรา 4-5 ลิตร/ปริมาตรน้ำ 100 ตัน
- เปลี่ยนถ่ายน้ำจากระดับก้นบ่ออย่างสม่ำเสมอ
- อย่าให้อาหารจนเหลือ
สูตรอาหารปลาดุกลดต้นทุนแบบธรรมชาติ
สูตรที่ 1 : รำละเอียด, กากถั่วเหลือง และ ปลาป่น
สูตรเป็นของ คุณ ประหยัด เนียมเกตุ จาก บ้านสระไคร อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ได้ให้สัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่ของ Farmer info. แนะสูตรอาหารปลาลดต้นทุนลงว่า ตนเองเลี้ยงปลาดุกเป็นอาชีพ เสริมมาประมาณ 2-3 ปีแล้ว แรกๆก็ขาดทุนบ้าง ได้กำไรน้อยบ้าง แต่พอหันมาทำอาหารปลาดุกเองสามารถลดต้นทุนลงได้เยอะ
ส่วนผสม
- รำละเอียด 2 กระสอบ
- กากถั่วเหลือง 10 กก.
- ปลาป่น 10 กก.
- EM 1 ลิตร
- กากนํ้าตาล 1 กก.
- เครื่องอัดเม็ด
- น้ำ 20 ลิตร
วิธีการทำ
ผสม EM กับกากน้ำตาลและน้ำ 20 ลิตร แล้วนำไปคลุกเคล้ากับกากถั่วเหลือง,ปลาป่นและรำละเอียด 1 กระสอบให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง จากนั้นนำส่วนผสมที่ผ่านการหมักจนครบเวลาแล้ว ไปผสมกับรำละเอียดอีก 1 กระสอบ ที่เหลือให้เข้ากัน ปั้นเป็นก้อน แล้วนำไปใช้เลี้ยงปลาดุกเช้า-เย็นได้ทุกวัน หากมีเครื่องอัดเม็ดการสามารถ นำเข้าเครื่องอัดแล้ว ตากแดดประมาณ 2 วัน จะสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานประมาณ 2 เดือน เลยที่เดียว
ขอบคุณข้อมูลความรู้จาก : คุณ ประหยัด เนียมเกตุ แหล่งอ้างอิงข้อมูล : พรชนก อุสส่าห์กิจ. เจ้าหน้าที่ Farmer info. สถานีนครศรีธรรมราช.
สูตรที่ 2 : วัสดุที่หาได้ง่ายในทุกท้องถิ่น
สูตรนี้เป็น สูตรของ คุณ จำเนียร ชูเวช เกษตรกร ชาวตำบลปากน้ำ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งได้แนะนำให้ใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น ซึ่งได้แนะนำ
ส่วนผสม
- ขี้วัว หรือ ขี้ควายแห้ง ประมาณ 2 กิโลกรัม
- กากมะพร้าว หรือ กากถั่วเหลือง 2 กิโลกรัม
- รำละเอียดหรือรำอ่อน 2 กิโลกรัม
- ไส้ปลา หรือ ไส้ไก่ หรือ ปลาบด หรือ ไข่ไก่ ไข่เป็ด หรือ หอยเชอรี่ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ประมาณ 2 กิโลกรัม
- ใบกระถิน หรือ ผักตบชวา หรือ ผักบุ้งหั่นละเอียดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ประมาณ 1 กิโลกรัม
- ข้าวจ้าว หรือ ปลายข้าวที่นึ่งสุกแล้วประมาณ 1 กิโลกรัม
- น้ำหมักจุลินทรีย์สูตรขยายสูตรใดสูตรหนึ่งก็ได้ใช้ประมาณ 3-5 ลิตร
วิธีการทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ใช้น้ำหมักจุลินทรีย์เทราดผสมจนได้ความชื้นเหมาะสมพอที่จะสามารถปั้นก้อนได้ โดยไม่มีน้ำไหลออกมาตามง่ามนิ้วมือ เมื่อได้ความชื้นเหมาะสมให้นำเข้าเครื่องบดเนื้อ เพื่อบดออกมาให้เป็นเส้นแล้วนำไปตากแห้งบนแผ่นสังกะสีซึ่งจะเก็บไว้ได้นาน 1 เดือน หรือ จะให้ปลากินสดๆ เลยก็ได้เช่นกัน
หมายเหตุ : การให้อาหาร
- ตั้งแต่เริ่มเลี้ยงจนปลามีอายุ 1 เดือน ควรให้อาหารสด
- เมื่อปลาอายุ 1 เดือนขึ้นไป จึงเปลี่ยนเป็นให้อาหารแห้ง
ขอบคุณข้อมูลความรู้จาก : คุณ จำเนียร ชูเวช แหล่งอ้างอิงข้อมูล : มินยดา อนุกานนท์
ที่มา :
-
- สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
- ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร
- www.sarakaset.com
บทความอื่นที่น่าสนใจ