บทความเกษตร » การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย เพิ่มรายได้เสริม

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย เพิ่มรายได้เสริม

28 มิถุนายน 2024
371   0

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย เพิ่มรายได้เสริม

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย


การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี๋ย เป็นรูปแบบการเพาะที่ง่าย ใช้วัสดุน้อยสามารถใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นวัสดุเพาะได้ เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว กากถั่วเหลือง กากมันสำปะหลัง

เห็ดฟาง เป็นเห็ดที่เพาะง่าย ใช้เวลาสั้นประมาณ 5 – 7 วัน ก็เก็บดอกเห็ดที่เพาะได้ เป็นเห็ดที่มีผู้นิยมบริโภคมาก ทำให้ความต้องการของตลาดสูง ซึ่งทำให้มีราคาดีตลอดปิ้ จึงมีผู้นิยมเพาะเห็ดฟางกันมาก การเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย มีการพัฒนามาจากการเพาะแบบกองสูง ซึ่งเป็นการประหยัดวัสดุเพาะและง่ายต่อการดูแล สามารถให้อาหารเสริม และให้ผลผลิตที่แน่นอน




 

ขั้นตอนการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย

การเตรียมการก่อนเพาะ

  • นำวัสดุเพาะ ได้แก่ ฟางข้าว แช่น้ำ 1-2 วัน ส่วนทะลายปาล์ม รดน้ำให้เปียก วันละ 1 ครั้ง หรือแช่น้ำไว้และคลุมพลาสติกสีดำให้มิดชิดทำอย่างนี้ 4 วัน อาหารเสริมทุกชนิด ได้แก่ ไส้ฝ้าย ไส้นุ่น ผักตบชวาสับตากแห้ง แช่น้ำให้นาน 1-2 ชั่วโมง ส่วนอาหารเสริมที่ได้จากมูลสัตว์ ได้แก่ มูลไก่ มูลวัว หรือ มูลม้า ผสมดินร่วนในอัตราส่วน 2 : 1 ไม่ต้องแช่น้ำ
  • ขุดดินตากแดด 1 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรค ย่อยดินให้ร่วนละเอียดจะช่วยให้ผลผลิตเห็ดฟางเพิ่มขึ้น 10-20% เนื่องจากเห็ดฟางจะเกิดรอบๆ กองวัสดุเพาะปรับดินให้เรียบ รดน้ำให้ชุ่ม วางแบบพิมพ์ลงบนดิน แบบพิมพ์ทำจากไม้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ด้านบนกว้าง 30 เซนติเมตร ด้านล่างกว้าง 35 เซนติเมตร ยาว 80-120 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร

วิธีการเพาะ

  • วัสดุที่ใช้เพาะ หากเพาะด้วยฟางข้าว ให้ใส่ฟางลงไปในแบบพิมพ์ให้หนา 8-12 เซนติเมตร ใช้มือกดูให้แน่น หรืออาจจะย่ำ 1-2 รอบ ใส่อาหารเสริมบริเวณขอบโดยรอบ กว้าง 5-7 เชนติเมตร หนา 2.5 เซนติเมตร หากเป็นทะลายปาล์มต้องเทขี้เลื่อยลงไปในแบบพิมพ์ เกลี่ยให้เรียบก่อนนำทะลายปาล์มที่แช่น้ำแล้ววางให้เต็ม และรดน้ำให้ชุ่ม แล้วโรยเชื้อไม่ต้องใส่อาหารเสริม

  • โรยเชื้อเห็ดโดยรอบบนอาหารเสริม เชื้อเห็ดที่ใช้ควรขี้ให้แตกออกจากกันเสียก่อนเป็นอันเสร็จชั้นที่ 1 เมื่อเสร็จแล้วก็ทำชั้นต่อไปโดยทำเช่นเดียวกับการทำชั้นแรกคือ ใส่ฟางลงในแบบไม้อัดหนา 8-12 เซนติเมตรกดให้แน่น ใส่อาหารเสริม ในช่วงฤดูหนาวหรืออุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส ควรทำ 4-5 ชั้น หรือสูง 35-40 เซนติเมตร์ ในฤดูร้อนควรทำ 3 ชั้น หรือสูง 28-30 เซนติเมตร หากเพาะด้วยทะลายปาล์มสามารถโรยเชื้อเห็ดฟางบนทะลายปาล์มได้เลย
    การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย
  • เมื่อทำกองเสร็จแล้ว ชั้นสุดท้ายคลุมฟางหนา 2-3 เซนติเมตร รดน้ำบนกองให้โชกอีกครั้ง ถอดแบบพิมพ์ เพื่อนำไปใช้เพาะกองต่อไป
  • เมื่อโรยเชื้อเสร็จแล้ว ใช้เชื้อเห็ดฟางผสมกับอาหารเสริมโรยรอบกอง จะทำให้ดอกเห็ดเกิดระหว่างกอง เป็นการเพิ่มปริมาณดอกเห็ด การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยมักจะทำกองห่างกันประมาณ 1 คืบ ขนานกันไป 10-20 กองเพื่อทำให้อุณหภูมิและความชื้นของกองไม่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วนัก
  • คลุมด้วยผ้าพลาสติกใสหรือทึบ โดยคลุมทั้งหมดด้วยผ้าพลาสติก 2 ผืน โดยให้ขอบด้านหนึ่งทับกันบริเวณหลังกอง จากนั้นใช้ฟางแห้งคลุมทับพลาสติกอีกทีหรืออาจทำแผงจากปิด ไม่ให้แสงแดดส่องถึง ก่อนการคลุมด้วยพลาสติกอาจทำโครงไม้เหนือกองเพื่อไม่ให้พลาสติกติดหลังกอง แล้วปิดด้วยฟางหลวม ๆ ก่อน

การดูแลรักษา

ในฤดูร้อน 3 วันแรก ช่วงกลางวันถึงเย็น ควรเปิดผ้าพลาสติกหลังกองกว้างประมาณ 1 ฝ่ามือ ส่วนกลางคืนปิดและคลุมฟางไว้เหมือนเดิม วันที่ 1-3 วัน เห็ดฟางต้องการอุณหภูมิประมาณ 35-38 องศาเซลเซียส ในวันที่ 4-5 ให้ตรวจดูความชื้นถ้าเห็นว่าข้างและหลังกองแห้ง ให้ใช้บัวรดน้ำโชยน้ำเบา ๆ ให้ขึ้นแล้วปิดไว้อย่างเดิมเห็ดฟางต้องการอุณหภูมิต่ำกว่าวันแรก ๆ จนกระทั่งวันที่ 8-10 ช่วงเก็บผลผลิตได้เห็ดฟางต้องการอุณหภูมิประมาณ 30 องศาเซลเซียส

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

ดอกเห็ดฟางที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวควรอยู่ในระยะดอกตูมรูปไข่ จะได้ราคาดี วิธีการเก็บจะใช้มือจับดอกเห็ดกดลงเล็กน้อย และหมุนจนดอกเห็ดหลุดออกจากวัสดุเพาะและไม่ควรให้กระเทือนถึงดอกเล็ก ๆ ในกองเพาะจะทำให้ดอกเห็ดฝอได้ ช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวถ้ามีการเพาะหลายแปลงจะเก็บในช่วงกลางคืนและช่วงเย็น เมื่อเก็บดอกเห็ดมาแล้ว จะทำการตัดแต่งทำความสะอาดโคนเห็ดเพื่อกำจัดสิ่งสกปรกออก และส่งตลาดต่อไป เห็ดฟาง 1 กอง จะได้ผลผลิตประมาณ 1.5-2 กิโลกรัม

ข้อแนะนำการเพาะเห็ดฟาง

  • การเพาะเห็ดฟางโดยใช้ฟางข้าวเป็นวัสดุเพาะฟางที่นำมาใช้เพาะเห็ดต้องแห้งสนิทมาก่อน ไม่มีเชื้อราปนเปื้อน
  • การแช่ฟางควรแชใช้อิ่มน้ำมากที่สุด เพื่อให้เส้นใยเห็ดฟางเจริญได้ดี
  • เลือกเชื้อเห็ดฟางที่ไม่มีจุลินทรีย์อื่นปลอมปน เช่น ราเขียว ราดำ ราขาว และไม่มีการรวมตัวของเส้นใย เป็นดอกเห็ดถ้ามีดอกเห็ดเล็ก ๆ เกิดขึ้นจะเจริญไม่ดีในแปลงเพาะและให้ผลผลิตต่ำ
  • พื้นที่เพาะเห็ดฟางควรอยู่กลางแจ้ง พื้นดินควรมีความชื้นหมาด ถ้าปรับปรุงดินด้วยปุ้ยคอกก็จะเพิ่มผลผลิตได้
  • การวางแผนกองเพาะเห็ดควรวางในทิศทางตะวันออก – ตะวันตก เพราะจะทำให้รับแสงแดดตลอดทั้งแปลง
  • น้ำที่ใช้แช่วัสดุเพาะควรเป็นน้ำสะอาดทางการเกษตร ห้ามใช้น้ำประปาที่มีสารคลอรีนเด็ดขาดเพราะจะทำให้เส้นใยเห็ดไม่เจริญในกองฟาง
  • เห็ดฟางเป็นเห็ดฟางที่เพาะง่ายไม่ต้องมีการนึ่งฆ่าเชื้อที่วัสดุเพาะ มีอายุในการเพาะสั้น ในช่วงฤดูร้อนใช้เวลา 8-10 วัน ช่วงฤดูหนาวใช้เวลา 15-20 วัน
  • เนื่องจากเห็ดฟางมีอายุในการเพาะที่สั้น จึงใช้วัสดุเพาะปริมาณมาก ผู้เพาะจึงควรสะสมวัสดุเพาะไว้ให้มาก เช่น ฟางข้าว ควรเก็บสะสมในฤดูหลังนา เพื่อการเพาะที่ต่อเนื่องถึงจะมีรายได้อย่างต่อเนื่อง
  • ราคาของผลผลิตจะสูงขึ้นในช่วงเดือนเมษายน เป็นต้นไป จนถึงเดือนพฤศจิกายนจะได้ผลผลิตที่ลดลงเนื่องจากอากาศร้อนและมีปริมาณน้ำมากในฤดูฝน
  • การให้น้ำเห็ดฟาง จะให้บนกองฟางที่เพาะเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ดังนั้นก่อนการคลุมกองฟางจะรดน้ำบนกองฟางให้ชื้นที่สุดและคลุมกองฟางด้วยผ้าพลาสติกใส
  • การคลุมกองฟางต้องไม่ให้ชายพลาสติกคลุมติดชิดกองฟางโดยเด็ดขาด เพราะว่าจะมีหยดน้ำตกลงบนขอบข้างกองฟางมากเกินไปทำให้เส้นใยเห็ดยุบตัวไม่รวมตัวเป็นดอกเห็ด
  • ถ้าต้องการให้เกิดดอกเห็ดทั่วทั้งกอง ให้ใช้ไม้โค้งปักรอบเพื่อไมให้พลาสติกคลุมชิดกองฟาง
  • วัสดุเพาะเห็ดที่เป็นตอซังหรือฟางข้าวสามารถนำไปสับและหมักใช้เพาะเห็ดนางรมได้เป็นอย่างดี

ที่มา : กรมส่งเสริมวิชาการเกษตร, www.sarakaset.com


บทความอื่นที่น่าสนใจ