เกษตรผสมผสานตามแนวทางเกษตรทฤษฏีใหม่
ระบบเกษตรผสมผสาน ( Integrated farming system )
เป็นระบบเกษตรที่มีการปลูกพืชและมีการเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกันโดยที่กิจกรรมการผลิตแต่ละชนิด เกื้อกูลประโยชน์ต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นาอย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุด มีความสมดุลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และเกิดการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ การเกื้อกูลกันระหว่างพืชและสัตว์ เศษซากพืช และผลพลอยได้จากการปลูกพืชจะเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ และผลพลอยได้จากการเลี้ยงสัตว์ก็จะเป็นประโยชน์ต่อพืชเช่นกัน
ระบบเกษตรผสมผสานเป็นระบบเกษตรกรรมที่จะนำไปสู่การเกษตรยั่งยืนโดยมีรูปแบบที่ดำเนินการมีลักษณะใกล้เคียงกับระบบไร่นาสวนผสม และทำให้ผู้ปฏิบัติมีความสับสนในการให้ความหมายและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง
ระบบไร่นาสวนผสม (Mixed/Diversefied/Polyculture Farming System) เป็นระบบการเกษตรที่มีกิจกรรมการผลิตหลาย ๆ กิจกรรมเพื่อตอบสนองต่อการบริโภคหรือลดความเสี่ยงจากราคาผลิตผลที่มีความไม่แน่นอนเท่านั้น โดยมิได้มีการจัดการให้กิจกรรมการผลิตเหล่านั้นมีการผสมผสานเกื้อกูลกัน เพื่อลดต้นทุนการผลิต และคำนึงถึงสภาพแวดล้อมเหมือนเกษตรผสมผสานการทำไร่นาสวนผสมอาจมีการเกื้อกูล กันจากกิจกรรมการผลิตบ้าง แต่กลไกการเกิดขึ้นนั้นเป็นแบบ “เป็นไปเอง” มิใช่เกิดจาก “ความรู้ ความเข้าใจ” อย่างไรก็ตามไร่นาสวนผสม สามารถพัฒนาความรู้ความสามารถของเกษตรกรผู้ดำเนินการให้เป็นการดำเนินการในลักษณะ ของระบบเกษตรผสมผสานได้
ระบบเกษตรผสมผสานเป็นการจัดระบบของกิจกรรมการผลิตในไร่นา ได้แก่ พืช สัตว์ ประมง ให้มีการผสมผสานอย่างต่อเนื่องและเกื้อกูลในการผลิตซึ่งกันและกัน โดยการใช้ ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นา เช่น ดิน น้ำ แสงแดดอย่างเหมาะสมเกิดประโยชน์สูงสุด มีความสมดุล ของภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเกิดผลในการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติด้วย
หลักการของเกษตรแบบผสมผสานมี 4 ประการคือ
- ประกอบด้วยกิจกรรมการผลิตตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป อาจเป็นการผสมผสาน ระหว่างพืชกับพืช สัตว์กับสัตว์ หรือสัตว์กับพืช
- กิจกรรมการผลิตแต่ละชนิดจะต้องเกื้อกูลกันเป็นวงจร โดยพิจารณาจาก การหมุนเวียนการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับอาหาร อากาศและพลังงาน
- ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
- ใช้แรงงานคนเป็นหลัก โดยเป็นแรงงานที่มีอยู่ภายในครอบครัว ครอบครัวเกษตรกรต้องมีความใจเย็นและเข้าใจ มีความอดทนมุมานะในการทำกิจกรรมอย่าง ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งต่างจากที่เคยทำในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ทำเสร็จแล้วก็เสร็จเลย แต่การทำ เกษตรแบบผสมผสานต้องให้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ระบบเกษตรผสมผสานเป็นระบบที่สามารถจะแก้ปัญหาการว่างงานของประชากรและลดความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพทางการเกษตรของเกษตรกรได้เป็นระบบที่ต้องมีการวางแผน มีการจัดการทรัพยากรการผลิตใน ระดับไร่นาสวนผสม และการจัดการในด้านเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ทุน แรงงาน และการตลาด โดยการสรุปได้ดังนี้
ด้านการวางแผนการผลิต เกษตรกรต้องสามารถวางแผนการผลิตภายในฟาร์มของตัวเองได้อย่างถูกต้องโดยองค์ประกอบความรู้เขาและรู้เราที่สำคัญในการวางแผน ได้แก่
- ต้องมีพื้นที่ถือครองของตนเอง การเช่าที่ดินจากผู้อื่นมาดำเนินการ เกษตรกรจะไม่กล้าที่จะวางแผนลงทุนอย่างถาวร เพราะเกรงว่าเมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งแล้วอาจจะถูกบอกเลิกได้
- ต้องทราบข้อมูลพื้นฐานภายในฟาร์มของตัวเองเป็นอย่างดี ข้อมูลดังกล่าว ได้แก่ ข้อมูลทางด้านลักษณะพื้นที่ ดิน แหล่งน้ำ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญ จะสามารถช่วยในการวางแผนภายใน ฟาร์มไดอย่างถูกต้อง
- ต้องมีความรู้และประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีการผลิตพืชหลายชนิด เช่น ข้าว พืชไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้น พืชผัก การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ การปศุสัตว์ และการประมง ถ้าขาดความรู้ในกิจกรรมใด กิจกรรมหนึ่ง จำเป็นต้องไปขวนขวายหาความรู้ โดยการไปศึกษาดูงาน รวมทั้งเข้ารับการฝึกอบรมจากหน่วยงานที่สามารถให้ความรู้นั้นได้
- ต้องมีทุนเริ่มต้นและทุนหมุนเวียนภายในฟาร์มพอสมควร ซึ่งการมีทุนสำรองไว้จะสามารถให้การวางแผนดำเนินกิจกรรมที่ผสมผสานกันเป็นไปอย่างเหมาะสม
- ต้องเป็นผู้มีความมานะอดทน ขยันขันแข็ง และมีแรงงานที่พอเพียงเหมาะสมกับกิจกรรมภายในฟาร์ม ทั้งนี้เพราะการทำการเกษตรจะเห็นผลสำเร็จได้ต้องใช้เวลาและประสบการณ์ ในการแก้ปัญหา ซึ่งจะมีอยู่ตลอดเวลา และสามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ตลอดเวลาเพื่อให้แก้ปัญหาได้ทันเหตุการณ์
ด้านการจัดการ เกษตรกรผู้ที่ดำเนินการระบบเกษตรผสมผสานจะประสบความสำเร็จได้ ควรจะต้องมีการจัดการ ที่เหมาะสมในด้านต่าง ๆ ดังนี้
- เป็นผู้มีความสามารถจัดการวางแผนการใช้แหล่งน้ำที่มีอยู่ในการผลิตพืชชนิดต่าง ๆ การเพาะเลี้ยงเห็ดเศรษฐกิจ การปศุสัตว์ และการประมง ได้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ดิน ทุน แรงงาน รวมทั้งการตลาด ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างเพียงพอ อันประกอบด้วยรายได้ประจำวัน ประจำสัปดาห์ ประจำเดือน และรายได้ประจำฤดูกาล ในการนี้เกษตรกรควรจะมีการจัดการทำบัญชีฟาร์ม เพื่อแสดงรายรับ-รายจ่ายภายในฟาร์ม
- เป็นผู้มีความรู้ความสามารถจัดการเทคโนโลยีสำหรับการผลิตพืชชนิดต่างๆการเพาะเลี้ยงเห็ดเศรษฐกิจการปศุสัตว์และการประมงได้เหมาะสมมีการหมุนเวียนนำสิ่งเหลือใช้ภายในฟาร์มมาใช้ประโยชน์ที่ ก่อให้เกิดการสนับสนุนเกื้อกูลประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง ลดการใช้สารเคมี ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้ผลิตผล ที่ปลอดภัยจากสารพิษ ซึ่งจะนำไปสู่ระบบการเกษตรที่ยั่งยืน ประโยชน์ที่ได้รับของการเกษตรแบบผสมผสาน การเกษตรแบบผสมผสานเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบเกษตรกรรมที่มีกิจกรรมตั้งแต่ 2 กิจกรรมขึ้นไปในพื้นที่เดียวกัน และกิจกรรมเหล่านี้จะมีการเกื้อกูลประโยชน์ซึ่งกันและกันไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง ดังนั้น จึงเป็นระบบที่นำไปสู่ การเกษตรแบบยั่งยืน (Sustainable Agriculture) จึงก่อให้เกิดผลดี และประโยชน์ในด้านต่าง ๆ
รูปแบบของระบบเกษตรผสมผสาน
ระบบเกษตรผสมผสานนั้น แม้ว่าเกษตรกรจะมีการดำเนินการกันมาช้านานแล้วก็ตามแต่ลักษณะของการดำเนินการ ยังมีความแตกต่างกันไป แล้วแต่การจะนำองค์ประกอบต่าง ๆ มาผสมผสานกันมากน้อยแค่ไหน และผสมผสานในรูปแบบใดก็ตามยังมีความหมายหลากหลาย การศึกษารายละเอียดเชิงวิชาการในด้านนี้ก็ยังมีไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบ กับการศึกษาในด้านกิจกรรมเดี่ยว ๆ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือปลาก็ตาม ฉะนั้นการกำหนดรูปแบบดำเนินการเกษตรผสมผสานก็จะมีหลายแบบเช่นกัน ทั้งนี้อาจจะยึดการแบ่งตามวิธีการดำเนินการลักษณะพื้นที่กิจกรรมที่ดำเนิน ทรัพยากร เป็นต้น
สรุป
การดำเนินการระบบเกษตรผสมผสานจะเป็นระบบการเกษตรที่ให้ผลผลิตกับเกษตรกรทั้งใน ด้านการมีอาหารเพียงพอแก่การบริโภค เป็นการเพิ่มงานและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงจาก จากการดำเนินกิจกรรมหลัก ลดการเคลื่อนย้ายแรงงาน สามารถใช้ทรัพยากรภายในฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถปรับปรุงสภาพแวดล้อมไม่ให้เสื่อมโทรม รักษาสมดุลของธรรมชาติไว้ แต่อย่างไรก็ดีระบบการทำฟาร์มผสมผสานในแต่ละสภาพของท้องถิ่นจะมีความแตกต่างกันในด้านกิจกรรมที่จะมาดำเนินการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวางแผนการจัดการที่จะให้ประสบความสำเร็จ จะต้องสอดคล้องกับสภาพเงื่อนไขทางด้านกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจ สังคม ของเกษตรกรแต่ละรายซึ่งจะมีความแตกต่างกัน การดำเนินการการเกษตรแบบผสมผสานจะมีข้อได้เปรียบและข้อจำกัด ดังต่อไปนี้
เกษตรผสมผสานตามแนวทางเกษตรทฤษฏีใหม่
ข้อได้เปรียบของการทำการเกษตรแบบผสมผสาน คือ
-
- ลดความเสี่ยงเนื่องจากความแปรปรวนของสภาพลมฟ้าอากาศ ราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอนและการระบาดของศัตรู พืช
- ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรภายในฟาร์ม ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน และเงินทุน
- มีอาหารเพียงพอแก่การบริโภคภายในครัวเรือน และมีรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดปี
- การใช้แรงงานสม่ำเสมอตลอดปี จึงทำให้ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคการเกษตรไปสู่ภาคอื่น ๆ
- เกษตรกรจะมีเศรษฐกิจที่พอเพียง จึงเป็นผลให้มีสภาพความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- เป็นระบบการเกษตรที่เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย
ข้อจำกัดของการทำระบบเกษตรผสมผสาน คือ
- เกษตรกรจะต้องมีที่ดิน ทุน แรงงาน ที่เหมาะสม
- เกษตรกรจะต้องมีความมานะ อดทน และขยันขันแข็ง
- ต้องมีการวางแผนและการจัดการทรัพยากรภายในฟาร์มตลอดจนเทคโนโลยีในการผลิต ที่เหมาะสมสอดคล้อง สอดคล้องกับระบบการตลาดในท้องถิ่นและในระดับภูมิภาค
เกษตรทฤษฎีใหม่ ( New Theory farming )
เป็นระบบเกษตร ที่เน้นการจัดการแหล่งน้ำและการจัดสรรแบ่งส่วนพื้นที่ทำการเกษตรอย่างเหมาะสมซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีข้าวปลาอาหารไว้บริโภคอย่างพอเพียงตามอัตภาพ อันจะเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรแล้วยังก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่เมื่อ วันที่ 4 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ จึงเป็นหนทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นฐานรากของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหากสร้างระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองได้ครึ่งหนึ่งหรือแม้แต่หนึ่งในสี่ของระบบเศรษฐกิจทั้งหมด ก็จะสามารถทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคงมากกว่าระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการส่งออกมากอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ พึงตระหนักก็คือแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นพระราชดำรัสที่อยู่ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงโดยให้ความสำคัญกับการผลิต เพื่อตอบสนองต่อความต้องการอาหารในครอบครัวและชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกดังนั้นการส่งเสริมการเกษตรทฤษฎีใหม่ใหม่ที่ดำเนินไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมให้มีการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีการเกษตรหรือการนำทฤษฎีไปใช้ โดยไม่เข้าใจเนื้อหา และปรัชญาที่อยู่ลึกเบื้องหลังจะมีผลให้แนวทางการดำเนินการดังกล่าว ไม่ถูกจัดว่าเป็นเกษตรกรรมยั่งยืน
หลักการของ “ทฤษฎีใหม่”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน “ทฤษฎีใหม่”ให้ดำเนินการในพื้นที่ทำกินที่มีขนาดเล็กประมาณ 15 ไร่ด้วยวิธีการจัดสรรที่ดินให้เหมาะสมกับการเกษตรแบบผสมผสานอย่างได้ผลเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ใช้จ่ายตลอดปี ซึ่งได้ ดำเนินการอย่างแพร่หลายในปัจจุบันซึ่งการพัฒนาตามแนวทาง “ทฤษฎีใหม่” นี้มีความจำเป็นต้องประยุกต์ใช้ในเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ทฤษฎีใหม่ มี 3 ขั้น คือ
“ทฤษฎีใหม่”ขั้นที่หนึ่ง
การผลิตเป็นการผลิตให้พึ่งพาตนเองได้ด้วยวิธีง่าย ค่อยเป็นค่อยไปตามกำลัง ให้พอมีพอกินไม่อดอยาก โดยมีแนวทางสำคัญ ประกอบด้วย
- ให้เกษตรกรมีความพอเพียง โดยเลี้ยงตัวเองได้ (Self Sufficiency) ในระดับชีวิตที่ประหยัดก่อน
- ทั้งนี้ ต้องมีความสามัคคีในท้องถิ่น
- มีการผลิตข้าวบริโภคพอเพียงประจำปีโดยถือว่าครอบครัวหนึ่งทำนา 5 ไร่ จะมีข้าวพอกินตลอดปี ข้อนี้เป็นหลักสำคัญของทฤษฎีนี้ “หากชาวนาต้องซื้อข้าวกิน ก็หมดสิ้นความเป็นเกษตรกรไทย”
- ต้องมีน้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่แต่ละแปลง (15 ไร่) ทำนา 5 ไร่ ทำพืชไร่หรือไม้ผล ฯลฯ 5 ไร่ (= 10 ไร่) จะต้องมีน้ำ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยสูตรคร่าวๆ แต่ละแปลงประกอบด้วย นา 5 ไร่ พืชไร่ และสวน ฯลฯ (เช่นไม้สร้างบ้าน สมุนไพร ไม้ใช้สอยไม้ไผ่ ไม้ผล เป็นต้น) 5 ไร่
- สระน้ำ 3 ไร่ ลึก 4 เมตร ความจุประมาณ 19,000 ลูกบาศก์เมตร (19,200) ปล่อยปลาในสระน้ำ ที่อยู่อาศัยและอื่นๆ (โรงเห็ด เล้าสัตว์เลี้ยงแปลงไม้ดอก ฯลฯ) 2 ไร่ รวมประมาณ 15 ไร่ ถ้ามีที่ดินน้อยกว่านี้ เช่น 10 ไร่ ก็แบ่งตามสัดส่วนโดยประมาณ แต่ที่สำคัญต้องทำข้าวให้พอกินทั้งปี
“ทฤษฎีใหม่”ขั้นที่สอง
ให้เกษตรกร รวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ร่วมแรงร่วมมือกันในรูป กลุ่มหรือสหกรณ์ร่วมแรงร่วมมือกันในด้านต่างๆ คือ
- การผลิต (พันธุ์พืช เตรียมดิน ชลประทาน ฯลฯ)
- การตลาด (ลานตากข้าว ยุ้ง เครื่องสีข้าว การจำหน่ายผลผลิต)
- การเป็นอยู่ (กะปิ น้ำปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่มฯลฯ
- สวัสดิการ (สาธารณสุข เงินกู้)
- การศึกษา (โรงเรียน ทุนการศึกษาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก)
- สังคมและศาสนา ด้วยความร่วมมือของหน่วยราชการมูลนิธิและเอกชน
“ทฤษฎีใหม่”ขั้นที่สาม
ติดต่อร่วมมือกับแหล่งเงิน (ธนาคาร) และกับแหล่งพลังงาน (บริษัทน้ำมัน) เพื่อ
- ตั้งและบริหารโรงสี
- ตั้งและบริหารร้านสหกรณ์
- ช่วยการลงทุน
- ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคารกับบริษัทจะได้รับประโยชน์
– เกษตรกรขายข้าวและพืชผลการเกษตรในราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)
– ธนาคารกับบริษัทซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง)
แนวทางการทำ เกษตรผสมผสานตามแนวทางเกษตรทฤษฏีใหม่ นั้นอาจจะต้องอาศัยองค์ความรู้ต่างๆ จากผู้ที่ประสบผลสำเร็จ และอาจจะมีระยะเวลาไม่เท่ากัน แต่ถ้ามีความมุ่งมั่นแล้ว ความสำเร็บต้องมาแน่นอนครับ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี 60 หมู่ 3 ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี 76120
โทร.0-3277-2852-3 โทรสาร.0-3277-2853 www.sarakaset.com
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ