สวนเกษตรผสมผสาน ๙ ผ่านไป 1 ปี (คลิป)
สวนเกษตรผสมผสาน
ระบบเกษตรผสมผสานเป็นการจัดระบบของกิจกรรมการผลิตในไร่นา ได้แก่ พืช สัตว์ ประมง ให้มีการผสมผสานอย่างต่อเนื่องและเกื้อกูลในการผลิตซึ่งกันและกัน โดยการใช้ ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นา เช่น ดิน น้ำ แสงแดดอย่างเหมาะสมเกิดประโยชน์สูงสุด มีความสมดุล ของภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเกิดผลในการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติด้วย
หลักการของเกษตรแบบผสมผสานมี 4 ประการคือ
- ประกอบด้วยกิจกรรมการผลิตตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป อาจเป็นการผสมผสาน ระหว่างพืชกับพืช สัตว์กับสัตว์ หรือสัตว์กับพืช
- กิจกรรมการผลิตแต่ละชนิดจะต้องเกื้อกูลกันเป็นวงจร โดยพิจารณาจาก การหมุนเวียนการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับอาหาร อากาศและพลังงาน
- ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
- ใช้แรงงานคนเป็นหลัก โดยเป็นแรงงานที่มีอยู่ภายในครอบครัว ครอบครัวเกษตรกรต้องมีความใจเย็นและเข้าใจ มีความอดทนมุมานะในการทำกิจกรรมอย่าง ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งต่างจากที่เคยทำในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ทำเสร็จแล้วก็เสร็จเลย แต่การทำ เกษตรแบบผสมผสานต้องให้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ระบบเกษตรผสมผสานเป็นระบบที่สามารถจะแก้ปัญหาการว่างงานของประชากรและลดความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพทางการเกษตรของเกษตรกรได้เป็นระบบที่ต้องมีการวางแผน มีการจัดการทรัพยากรการผลิตใน ระดับไร่นาสวนผสม และการจัดการในด้านเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ทุน แรงงาน และการตลาด
โคกหนองนาโมเดล มีองค์ประกอบอย่างไร?
อย่างที่เราได้บอกไปว่าแต่ละคำของชื่อ เป็นแนวทางการทำการเกษตรอินทรีย์ และการสร้างวิถีชีวิตที่มีความยั่งยืนอย่างที่สุด ถามว่า โคกหนองนาโมเดล มีองค์ประกอบอย่างไร ?
- โคก หรือ “พื้นที่สูง”
เป็นดินที่ถูกมนุษย์ขุดขึ้นมาจากการทำหนองน้ำ แล้วนำดินนั้นมาทำเป็นโคก บนโคกจะปลูกป่าโดยทำเป็นป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สามารถปลูกพืช ผัก ผักสวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ หรือเลี้ยงปลา โดยจะทำให้การเป็นอยู่ของเกษตรกรเป็นแบบพอกินพอใช้ หรือตามแนวทางขั้นพื้นฐานแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปกติแล้วได้มีการจำแนกการปลูกพืชตามแนวความสูงออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่
– ไม้หัวใต้ดิน อย่าง ขิง ข่า บุก มันมือเสือ กวาวเครือ ฯลฯ
– ไม้เรี่ยดิน อย่าง ไม้เลื้อยต่าง ๆ ไม่ว่าจะ รางจืด พริกไทย ฯลฯ
– ไม้เตี้ย ซึ่งเป็นไม้พุ่มเตี้ยที่ไม่ได้มีความสูงมากอยู่ใต้ไม้สูง และไม้กลางอย่าง มะเขือ พริก ติ้ว เหรียง ผักหวานบ้าน ฯลฯ
– ไม้กลาง โดยจะเป็นต้นไม้ที่ไม่ได้สูงมาก ส่วนใหญ่เป็นไม้ผลที่สามารถเก็บกินได้ อย่าง มังคุด มะม่วง กระท้อน ขนุน สะตอ ไผ่ ฯลฯ
– ไม้สูง จะเป็นไม้เรือนยอดสูงที่มีอายุยืนนาน อย่าง ยางนา ตะเคียน เต็ง รัง ฯลฯ
และเมื่อถามถึงวิธีการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง อันที่จริงก็ไม่ได้ยุ่งยาก โดยเริ่มต้นจากการนำไม้ที่โตไวอย่าง แค มะรุม ไม้ผล สะเดา กล้วย อ้อย รวมถึงพืชผักที่มีอายุสั้นมาปลูก เพื่อเป็นแหล่งสร้างอาหารให้กับคนในครอบครัว
หลังจากนั้น 1 – 2 ปี ก็เริ่มปลูกไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย เมื่อเติบโตจนมีร่มเงาให้พื้นที่ ก็ค่อยไปเริ่มปลูกบรรดาพืชสมุนไทย และในส่วนของพื้นที่ทำนาควรมีขนาดที่เหมาะสม สามารถปลูกข้าวได้ในปริมาณเพียงพอต่อการกินภายในครัวเรือน ไม่ต้องไปซื้อให้เสียเงิน ต่อด้วยการขุดบ่อน้ำ ร่องน้ำเล็ก เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของชั้นดิน เลี้ยงปลาไว้เป็นอาหาร เมื่อปลูกป่า 3 อย่าง ก็นำมาใช้ทำประโยชน์ 4 อย่างได้ คือ ใช้ทำที่อยู่ ใช้เป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ใช้เป็นเครื่องมือหัตถกรรม ใช้เป็นร่มเงา สร้างความเย็นสบายแก่ตัวบ้าน
- หนอง หรือ “หนองน้ำหรือแหล่งน้ำ”
หนองที่จะพูดถึงนี้ คือ การขุดหนองเอาไว้เพื่อกักเก็บน้ำที่มีความจำเป็นช่วงหน้าแล้ง ช่วงที่มีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม หรือเป็นหลุมที่เอาไว้รับน้ำที่จะมาท่วมขัง (หลุมขนมครก) โดยการขุดปกติแล้วจะเรียกว่าคลองไส้ไก่ หรือคลองที่ใช้ระบายน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ตามภูมิปัญญาแบบชาวบ้าน
การขุดจะมีลักษณะคดเคี้ยวออกไปตามพื้นที่ เพื่อเป็นการกระจายน้ำให้เต็ม ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานไม่ต้องไปรดน้ำต้นไม้ นอกจากนี้ ยังมีการทำเป็นฝายเอาไว้ทดน้ำ เพื่อให้สามารถเอาไปกักเก็บน้ำไว้ภายในพื้นที่นั้น ๆ ให้ได้มากที่สุด
เมื่อพื้นที่ที่อยู่โดยรอบไม่ได้มีการกักเก็บน้ำ น้ำก็จะไหลหลากลงมาภายในหนองน้ำ รวมถึงคลองไส้ไก่ ช่วยให้สามารถใช้ฝายกักเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้งได้ ทั้งยังมีการพัฒนาพื้นที่ อย่างการขุดลองหนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และระบายออกเมื่อน้ำไหลหลาก
- นา
สุดท้ายคือนา ถือเป็นพื้นที่ให้ปลูกข้าวอินทรีย์ตามแบบฉบับพื้นบ้าน ซึ่งจะมีการเริ่มต้นมากจากการพัฒนาฟื้นฟูที่ดิน อย่างการเลือกทำการเกษตรแบบอินทรีย์ยั่งยืน เพื่อคืนสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่เรียกว่าจุลินทรีย์กลับไปยังผืนดิน ช่วยควบคุมปริมาณน้ำที่มีอยู่ภายในนาให้สมบูรณ์ คุมหญ้าโตกำลังดี ปลอดสารเคมี ไม่เป็นอันตรายทั้งคนที่ปลูก รวมถึงคนที่กินด้วย นอกจากนี้ ยังมีการยกคันนา ให้มีความสูงและกว้าง เป็นการเปิดพื้นที่รับน้ำได้ ไม่เป็นภัยเมื่อมีน้ำไหลหลากมาท่วม สามารถปลูกพืชได้ตามคันนา
ฝากกดไลค์ กดแชร์ ติดตามช่องได้ที่
ที่มา Youtube Channel : โชคเหลืองวิไล แมคโคร
บทความอื่นที่น่าสนใจ