ปุ๋ยหมักกากกาแฟ
เปลือกหรือกากกาแฟแห้ง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “กากกาแฟ” เป็นวัสดุอินทรีย์ที่ได้มาจากการสีผลกาแฟที่ตากแห้งแล้ว เดิมกากกาแฟเป็นวัสดุที่ถูกทิ้งไว้ตามบริเวณโรงสีและบางครั้งในคูคลองสร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่เป็นวัสดุที่มีประโยชน์สามารถใช้เป็นวัสดุอินทรีย์และใช้ทำปุ๋ยหมักได้ดี ใช้บำรุงดินช่วยทำให้พืชปลูกมีการเจริญเติบโตดี
ปุ๋ยหมักกากกาแฟ
ปุ๋ยหมักกากกาแฟ คือ ปุ๋ยหมักที่ได้จากกากกาแฟหรือเปลือกกาแฟแห้งรวมกับมูลสัตว์ เอามากองรวมกัน เกิดการย่อยสลายตัวผุพังจากการกระทำของจุลินทรีย์
สถานที่ทำปุ๋ยหมัก
- ควรอยู่ใกล้ที่ซึ่งจะนำปุ๋ยไปใช้ และควรห่างบ้านพักอาศัยไม่น้อยกว่า 15 เมตร
- ควรเป็นพื้นเรียบ ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ น้ำไม่ขัง
- ควรเป็นพื้นที่ยาวไม่น้อยกว่า 4 เมตร กว้างประมาณ 4-6 เมตรเพื่อเป็นที่กองปุ๋ยหมักและเป็นที่ว่างเพื่อวางกองปุ๋ยเมื่อกลับกองปุ๋ยด้วย
สิ่งที่ต้องใช้
- เชื้อเร่งปุ๋ยหมักของกรมวิชาการเกษตร หรือกรมพัฒนาที่ดิน 1 ซอง
- ปุ๋ยคอก หรือ มูลสัตว์ 200 กิโลกรัม
- ยูเรีย 2 กิโลกรัม
- กากกาแฟ 1,000 กิโลกรัม
- น้ำ และพลั่ว
- ผ้าพลาสติกหรือถุงปุ๋ย ทางมะพร้าวแห้งใช้เป็นวัสดุปิดคลุมกอง
การทำปุ๋ยหมักกากกาแฟ
- เตรียมกากกาแฟให้ขึ้นด้วยการรดน้ำและคลุกเคล้าให้ทั่วถึง ควรทำ 1-2 วัน ก่อนทำกองปุ๋ยหมัก ใส่เชื้อเร่งปุ๋ยหมักลงในถังน้ำ ใส่น้ำ 20 ลิตร กวนและทิ้งไว้ 10-15 นาที
- นำกากกาแฟที่เตรียมไว้มากองให้กว้าง 2 เมตร ยาวประมาณ 2-3 เมตร ย่ำให้แน่นพอสูง 30-40 เซนติเมตร โรยปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ให้ทั่วบนพื้นผิว ถ้าปุ๋ยคอกแห้ง ควรรดน้ำให้ขึ้นทั่วถึง โรยยูเรีย แล้วราดน้ำละลายสารเร่งให้ทั่วผิวหน้ากอง
- ทำซ้ำแบบเดิม จนได้ครบ 4-5 ชั้น หรือสูง 1-1.5 เมตร ชั้นบนสุดให้ปิดทับด้วยกากกาแฟหรือดิน เพื่อกักความชื้น คลุมผ้าพลาสติกเพื่อรักษาความขึ้นและกันฝนชะล้าง
- กลับกองปุ๋ยทุก 7-10 วัน ในช่วงเดือนแรก และกลับเมื่อครบ 2 และ 3 เดือน รวมแล้วกลับไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง ถ้ากองปุ๋ยแห้งเกินไป ให้รดน้ำด้วยขณะกลับกอง
- ปุ๋ยหมักกากกาแฟจะใช้ได้ต่อเมื่อปุ๋ยยุ่ย มีสีดำคล้ำ มีกลิ่นดิน ไม่เหม็น ไม่ร้อนและไม่ยุบตัวอีกแล้ว
ขั้นตอนการหมัก
ช่วงแรกเริ่ม (วันที่ 1-7) กองปุ๋ยจะเริ่มอุ่น มีอุณหภูมิประมาณ 40-45 องศาเซลเซียส
ช่วงที่สอง (วันที่ 8-50) กองปุ๋ยเริ่มร้อน มีอุณหภูมิประมาณ 50-75 องศาเซลเชียส ช่วงนี้จะร้อนมาก ไข่แมลงและเมล็ดวัชพืชจะถูกทำลาย รวมถึงเชื้อโรคของคนและโรคพืชด้วย ควรร้อนไม่น้อยกว่า 15 วัน ควรกลับกองเพื่อเป็นการเพิ่มอากาศและกระจายความร้อนกระจายเชื้อจุลินทรีย์ให้สม่ำเสมอทั่วกอง กลับนอกกองเข้าในกอง
ช่วงที่สาม (วันที่ 51-140) กองปุ๋ยจะอุ่นเหมือนช่วงแรกเป็นการหมักต่อไปอย่างช้าๆ จนเสร็จสิ้น ใช้เวลาในการหมักรวมทั้งสิ้น ประมาณ 120-140 วัน หรือ 4-5 เดือน
จุลินทรีย์ในขณะหมัก
จุลินทรีย์มีอยู่มากในปุ๋ยคอก ติดมากับกากกาแฟ และ มาจากเชื้อเร่งปุ๋ยหมัก แบ่งเป็น 4 พวก ได้แก่ แบคทีเรีย, แอคทิโนไมซีต, เชื้อรา, เชื้อโรค
ธาตุอาหารในปุ๋ยหมัก
ในโตรเจน : เกือบทั้งหมดอยู่ในรูปสารอินทรีย์/ส่วนที่อยู่ในรูปแอมโมเนียและไนเตรตมีน้อยมาก ดังนั้นไนโตรเจนจะถูกปลดปล่อยอย่างช้าๆ
ความชื้นของปุ๋ยหมัก
จุลินทรีย์ต้องการน้ำ และน้ำช่วยละลายสารอาหารต่างๆ ให้จุลินทรีย์ด้วย กองปุ๋ยจึงควรขึ้น 50-60% โดยน้ำหนักเมื่อเริ่มทำกองปุ๋ยหมัก
หากปุ๋ยหมักแห้งไป : ปุ๋ยจะไม่ย่อยสลายหรือย่อยสลายช้ามาก
หากปุ๋ยหมักแฉะเกินไป: อากาศไม่พอ ปุ๋ยไม่ย่อยสลาย ทำให้ได้ปุ๋ยคุณภาพต่ำ
คุณภาพของปุ๋ยหมัก
- ช่วยให้พืชมีการแตกกิ่งก้านและใบดีขึ้นเห็นผลใน 3-6 เดือน
- ช่วยปรับโครงสร้างดินให้ดีขึ้น ส่งเสริมให้รากพืชเติบโตดี ดูดน้ำและอาหารได้มากขึ้น ให้ธาตุอาหารในปริมาณน้อย
- ช่วยเพิ่มชนิดและปริมาณจุลินทรีย์ในดิน เพิ่มจำนวนไส้เดือน
- ช่วยการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศในดินลดความรุนแรงของโรคพืชบางชนิด เช่น โรครากเน่าคอดิน
ข้อดีของปุ๋ยหมักกากกาแฟ
- ปุ๋ยหมักกากกาแฟมีอาตุโพแทสเชียมสูง สามารถใช้ทดแทน
- ปุ๋ยเคมีที่ให้ธาตุโพแทสเซียมได้ ทำให้เกษตรกรประหยัดค่าปุ๋ยลงได้ มีราคาถูกมาก เนื่องจากต้นทุนในการทำปุ๋ยหมักกากกาแฟต่ำ
- เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่สะอาด เพราะเมล็ดวัชพืชและเชื้อโรคถูกทำลายด้วยความร้อนในกระบวนการหมัก
ปริมาณการใช้ปุ๋ยหมักกากกาแฟ
ใช้ปริมาณ 3-5 กก./ต้น ใส่ให้ต้นกาแฟปีละครั้งและสามารถใช้ได้กับไม้ผล ไม้ยืนต้นทั่วไป
ข้อควรระวัง
ปุ๋ยที่หมักได้ที่แล้ว ควรรีบนำไปใช้ มิฉะนั้นอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของด้วงบางชนิด เช่น ด้วงแรดมะพร้าว
ที่มา
- ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร
- สถาบันวิจัยพืชสวน
- กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
บทความอื่นที่น่าสนใจ