บทความเกษตร » ปลูกข้าวโพดหวาน วิธีการปลูกและการให้น้ำข้าวโพดหวาน

ปลูกข้าวโพดหวาน วิธีการปลูกและการให้น้ำข้าวโพดหวาน

29 กรกฎาคม 2022
1666   0

ปลูกข้าวโพดหวาน วิธีการปลูกและการให้น้ำข้าวโพดหวาน

 

ปลูกข้าวโพดหวาน

ปลูกข้าวโพดหวาน


ข้าวโพดหวาน  นั้นเป็นพืชวันสั้น ปลูกในสภาพวันยาว จะใช้เวลาในการออกดอกและแก่ยาวขึ้น และมีจำนวนใบเพิ่มขึ้น แม้ว่าข้าวโพดเป็นพืชที่มีความสามารถปรับตัวได้กว้าง แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิระหว่าง 24-30 องศาเซนเซียล และอุณหภูมิต่ำสุด สำหรับการงอกที่ 10   องศาเซนเซียล ขณะที่ต้นยังเล็กอยู่ (สูงราว 15 เซนติเมตร) ข้าวโพดสามารถทนทานต่ออากาศหนาวเย็นได้ดี แต่เมื่อโตขึ้นจะไม่ทนทานต่อสภาพอากาศดังกล่าว   ข้าวโพดเป็นพืชที่ต้องการไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมสูง ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกข้าวโพดควรมี pH ระหว่าง 5.5-8

แม้ว่าการปลูกข้าวโพดหวานสามารถทำได้ตลอดปีถ้ามีแหล่งน้ำเพียงพอ อย่างไรก็ตามผลผลิตและคุณภาพข้าวโพดหวานอาจจะแตกต่างไปตามฤดูกาล นอกจากนี้พันธุ์บางพันธุ์อาจตอบสนองต่อฤดูปลูกแตกต่างกัน โดยทั่วไปในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ จะให้ผลผลิตต่ำกว่าในช่วงอื่น ๆ เนื่องจากอากาศเย็น ขณะที่การปลูกในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม จะได้ผลผลิตดีกว่าช่วงอื่น ๆ ไม่มีโรคราน้ำค้างระบาดและปัญหาวัชพืชซึ่งจะน้อยกว่าการปลูกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพราะผลผลิตบางส่วนอาจเสียหายได้เนื่องจากช่วงดังกล่าวฝนตกชุก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมหรือน้ำขังในแปลงปลูกได้ง่าย โดยเฉพาะในแปลงที่มีระบบการระบายน้ำไม่ดี

ฤดูปลูกข้าวโพดหวาน

สำหรับประเทศไทย การปลูกข้าวโพดส่วนใหญ่เป็นข้าวโพดไร่ปลูกแบบอาศัยน้ำฝน ซึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการปลูกและการให้ผลผลิต ของข้าวโพดจึงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและการกระจายของฝนที่ตกตลอดฤดูปลูก สำหรับเขตชลประทาน สามารถปลูกข้าวโพด ได้ตลอดปี โดยทั่วไปการปลูกต้นฤดูฝน (เมษายน – พฤษภาคม) มักจะได้ผลผลิตดีกว่า ไม่มีโรคราน้ำค้างระบาดและปัญหาวัชพืช น้อยกว่าปลูกปลายฤดูฝน (กรกฎาคม – สิงหาคม) แต่มีข้อเสียคือ ในระยะเก็บเกี่ยวจะมีฝนชุก ทำให้ข้าวโพดชื้น จะเกิดปัญหา สารอะฟลาทอกซิน เพราะตากข้าวโพดไม่แห้ง แต่ปลูกปลายฤดูฝน จะมีปัญหาเตรียมดินไม่สะดวก เพราะฝนชุกและโรคต้นกล้าเน่า

การเตรียมดินสำหรับปลูกข้าโพดหวาน    

ในการปลูกข้าวโพดหวานควรมีการเตรียมดินอย่างดี เพื่อช่วยกำจัดวัชพืชย่อยเศษซากพืชและคลุกเคล้าอินทรียวัตถุ อีกทั้งยังเป็นการทำลายโรคและแมลงบางชนิดที่เป็นศัตรูข้าวโพด โดยทั่วไปการเตรียมดินควรปฏิบัติ ดังนี้

  • ไถด้วยผาลสาม 1 ครั้ง ลึก 20-30 เซนติเมตร และตากดิน 7-10 วัน แล้วพรวนด้วยผาลเจ็ด 1 ครั้ง แล้วคราดเก็บเศษซาก ราก เหง้า หัว ไหล ของวัชพืชออกจากแปลงให้หมด
  • เก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ ถ้าพบว่าดินมีความเป็นกรดต่ำกว่า 5.5 ให้หว่านปูนขาว อัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่แล้วพรวนกลบ จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 14 วัน ก่อนปลูกข้าวโพดหวาน   
  • ถ้าดินมีอินทรียวัตถุต่ำกว่า 1.5 ให้ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้ว อัตรา 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วพรวนดินกลบ

วิธี ปลูกข้าวโพดหวาน 

การปลูกข้าวโพดที่ปฏิบัติกันสามารถทำได้ 3 วิธี

  1. การขุดหลุมปลูก เป็นวิธีการปฏิบัติแบบเก่า โดยใช้จอบ เสียม หรือไม้ปลายแหลมขุดเป็นหลุม การปลูกวิธีนี้ทำให้ระยะระหว่างต้น ระหว่างหลุม และความลึกของเมล็ดที่ปลูกไม่สม่ำเสมอ ปัจจุบันได้มีเครื่องมือปลูกเรียกว่า corn jab ที่สามารถกำหนดระยะปลูกและความลึกในการปลูกได้
  2. การปลูกแบบชักร่อง ใช้ไถหัวหมูติดรถแทรกเตอร์หรือรถไถเดินตาม หรือใช้แรงงานสัตว์ทำร่อง ปลูกเป็นแถว ใช้แรงงานคนในการหยอดเมล็ดปลูกในร่องแล้วใช้เท้าปาดผิวดินกลบ การปลูกวิธีนี้จะได้ระยะระหว่างแถวสม่ำเสมอ แต่ระยะระหว่างหลุมและความลึกในการปลูกไม่สม่ำเสมอ
  3. การปลูกโดยใช้เครื่องปลูก (planter) โดยใช้เครื่องปลูกติดท้ายรถแทรกเตอร์ ปลูกเป็นแถว สามารถกำหนดระยะระหว่างแถว ระหว่างหลุม และความลึกในการปลูกได้ค่อนข้างสม่ำเสมอ

อัตราปลูกเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดผลผลิตต่อพื้นที่ ดังนั้นในการปลูกข้าวโพดจึงควรจัดระยะปลูกระหว่างแถว และระหว่างหลุมให้เหมาะสม โดยระยะที่แนะนำคือ ระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร และระหว่างหลุม 25 เซนติเมตร จะใช้จำนวนต้นต่อหลุม 1 ต้น

การให้น้ำ

การขาดน้ำทุกระยะการเจริญเติบโตจะมีผลให้ผลผลิตและคุณภาพของข้าวโพดลดลง ก่อนการปลูกเกษตรกรต้องมีการวางแผนวิธีการให้น้ำที่เหมาะสมกับสภาพแปลงปลูก โดยทั่วไปการให้น้ำมีหลักปฏิบัติ ดังนี้

  • ให้น้ำทันทีหลังปลูกและหลังการใส่ปุ๋ยทุกครั้ง หลังจากนั้นให้น้ำทุก 7-12 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ วิธีการให้น้ำที่เกษตรกรปฏิบัติมีอยู่ 2 แบบ คือ ให้น้ำตามร่องคูและให้น้ำแบบพ่นฝอย (Sprinkler) ซึ่งการให้น้ำแบบพ่นฝอยควรให้น้ำแต่ละครั้งประมาณ 35-40 มิลลิลิตร ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและชนิดของดิน เช่น ถ้าดินที่ใช้ปลูกเป็นดินทรายหรือดินร่วน ควรให้น้ำถี่กว่าดินเหนียวหรือดินร่วนเหนียว เพราะดินดังกล่าวมีความสามารถในการเก็บความชื้นไว้ นอกจากนี้ในช่วงการเจริญเติบโต หากสภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงหรือมีลมแรงก็ควรมีการให้น้ำถี่ขึ้น 
  • หากพบว่าใบข้าวโพดหวานเหี่ยวหรือม้วนในช่วงเช้าหรือเย็น แสดงว่าขาดน้ำต้องรีบให้น้ำทันที
  • หลังการให้น้ำต้องระวังไม่ให้น้ำท่วมขังในแปลงนานเกิน 24 ชั่วโมง เพราะข้าวโพดหวานจะชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงหรืออาจตายได้
  • อย่าให้ข้าวโพดขาดน้ำในช่วงการเจริญเติบโต โดยเฉพาะในช่วงผสมเกสรและติดเมล็ด เพราะจะทำให้ผลผลิตและคุณภาพผลผลิตลดลงอย่างมาก ถึงแม้การขาดน้ำจะเป็นช่วงสั้น ๆ และไม่รุนแรง
  • หยุดให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานประมาณ 2-3 วัน

” ปลูกข้าวโพดหวาน “

การให้ปุ๋ยข้าวโพดหวาน

ควรมีการใส่ปุ๋ยให้ต้นข้าวโพด เพื่อให้มีธาตุอาหารใช้ในการสร้างผลผลิตให้เพิ่มขึ้น ซึ่งการใส่ปุ๋ยควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง

  1. ปุ๋ยรองพื้น ควรใส่รองก้นหลุมหรือโรยเป็นแถวแล้วกลบพร้อมปลูก ถ้าใช้เครื่องปลูกจะมีถังสำหรับใส่ปุ๋ยพร้อมอยู่แล้ว ถ้าปลูกด้วยมือ ควรหยอดปุ๋ยที่ก้นหลุมแล้วกลบดินบาง ๆ ก่อนหยอดเมล็ด ไม่ควรให้ปุ๋ยสัมผัสกับเมล็ดโดยตรง เพราะอาจทำให้เมล็ดเน่าได้ ปุ๋ยรองพื้นที่ใช้ อาจใช้สูตร 16 – 20 – 0, 15 – 15 – 15 , 20 – 20 – 0 หรือสูตรอื่นๆ ตามความเหมาะสมถ้าเป็นไปได้ ควรมีการวิเคราะห์ดิน เพื่อหาสูตรปุ๋ยที่เหมาะกับพื้นที่ โดยปุ๋ยรองพื้น ควรใส่อัตราประมาณ 25 – 30 กิโลกรัม/ไร่
  2. ปุ๋ยแต่งหน้า หลังจากปลูกประมาณ 25 – 30 วัน ควรมีการใส่ปุ๋ยอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ปุ๋ยยูเรีย (46 – 0 – 0) โรยข้างต้นในอัตรา 20 – 25 กิโลกรัม/ไร่ ใส่ขณะดินมีความชื้นหรือใส่แล้วกลบด้วยเครื่องทำรุ่นพูนโคน

การป้องกันและกำจัดวัชพืช

  1. หลังจากปลูกข้าวโพด ก่อนข้าวโพดงอก (และก่อนหญ้างอกหรือหญ้างอกต้นเล็กไม่เกิน 3 ใบ) ให้พ่นสารควบคุมวัชพืชขณะดินชื้น โดยใช้สารอาทราซิน อัตรา 500 กรัม / ไร่ หรืออะลาคลอร์ อัตรา 600 ซีซี / ไร่ หรือใช้ทั้งสองอย่างรวมกันโดยใช้อาทราซีน 350 กรัม + อะลาคลอร์ 500 กรัม / ไร่
  2. ควรมีการทำรุ่นพูนโคน เมื่อข้าวโพดอายุประมาณ 25 – 30 วัน เพื่อเป็นการกำจัดวัชพืชที่งอกใหม่ โดยการใช้ผานหัวหมู หรือใช้จอบถาก
  3. การกำจัดวัชพืช ถ้ามีวัชพืชในแปลงข้าวโพดมากอาจใช้สารพาราควอท(กรัมม็อกโซน) ฉีดพ่นเพื่อฆ่าหญ้า โดยใช้อัตรา 80 ซีซี / น้ำ 20 ลิตร ( 8 ช้อนแกง / น้ำ 1 ปี๊บ ) ทั้งนี้การฉีดพ่นจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้สารโดนต้นข้าวโพดเพราะจะทำให้ข้าวโพดไหม้ตายได้

โรคที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

โรคที่สามารถทำความเสียหายให้กับข้าวโพดมีหลายชนิดด้วยกัน และเกิดที่ส่วนต่าง ๆ ทั้งที่ใบ ลำต้น กาบใบ เมล็ด และอื่น ๆ แตกต่างกัน นอกจากนั้นอาจเกิดที่ระยะการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันอีกด้วย ความเสียหายของพืชจากโรค นอกจากจะขึ้นกับชนิดของโรคที่เป็นแล้ว ยังขึ้นกับความรุนแรงของการเป็นโรคด้วย โรคข้าวโพดที่สำคัญมีดังนี้

โรคราน้ำค้าง (Downy mildew)

โรคราน้ำค้าง (Downy mildew)

เชื้อสาเหตุ เชื้อรา Peronosclerospora sorghi

อาการ : เชื้อโรคสามารถเข้าทำลายข้าวโพดได้ตั้งแต่ยังเป็นต้นกล้าจนถึงออกดอก อาการในระยะแรก เมื่อข้าวโพดยังเป็นต้นกล้า จะเกิดจุดสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนบนใบเลี้ยงและใบจริงสองสามใบแรก ต่อจากนั้นจุดนี้จะขยายออกเป็นทางสีขาวลามไปยังฐานใบ ต่อมาในระยะที่สอง ใบที่ผลิออกมาใหม่จะมีทางสีขาว เขียวอ่อน หรือเหลืองอ่อนเกิดขึ้นจากฐานใบถึงปลายใบ ระยะนี้เป็นระยะที่ข้าวโพดเสียหายอย่างมาก ต้นที่เป็นโรคอาจแห้งตายก่อนออกดอกหรือฝัก หรือถึงมีฝัก ฝักจะไม่สมบูรณ์ มีเมล็ดจำนวนน้อย อาการผิดปกติอีกอย่างที่พบ คือ ส่วนยอดและดอกแตกเป็นพุ่มหรือก้านฝักยาวและมีฝักหลายฝักเป็นกระจุก

การแพร่ระบาด : โรคจะเริ่มระบาดต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคมไปจนสิ้นฤดูฝน สภาพอุณหภูมิที่เหมาะแก่เชื้อโรคคือ 20-26 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสูง โดยการระบาดสามารถระบาดโดยตรงจากต้นข้าวโพด และยังสามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์ที่อยู่ในดิน หรืออาศัยอยู่ในพืชชนิดอื่น

การป้องกันกำจัด : ใช้พันธุ์ต้านทานโรคราน้ำค้าง หลีกเลี่ยงการปลูกก่อนฝนตกชุก กำจัดพืชอาศัย ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่เป็นโรค

โรคราสนิม

เชื้อสาเหตุ : Puccinia sorghi (common rust), P. polysora (southern rust), Physopella zeae (tropical rust)

อาการ : เกิดโรคได้แทบทุกส่วนของต้นข้าวโพด โดยแสดงอาการเป็นจุดนูนเล็ก ๆ ขนาดแผลประมาณ 0.2-2.0 มิลลิเมตร แผลจะเกิดด้านบนใบมากกว่าด้านล่างใบ เมื่อเป็นโรคในระยะแรก ๆ จะพบเป็นจุดนูนเล็ก ต่อมาแผลจะแตกออกเห็นเป็นผงสีสนิมเหล็ก ในกรณีที่เป็นโรครุนแรงจะทำให้ใบแห้งตาย       

การแพร่ระบาด : ระบาดปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ในขณะที่มีความชื้นในอากาศสูง และมีอุณหภูมิค่อนข้างเย็น การแพร่ระบาดจะแพร่ออกไปจากแผลที่ใบ กาบใบ และเปลือกหุ้มฝัก เมื่อปลิวไปตกที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะทำให้เกิดโรคกับข้าวโพด

การป้องกันกำจัด : ใช้พันธุ์ต้านทานโรค กำจัดวัชพืชและทำลายต้นพืชที่เป็นโรคโดยการเผา ใช้สารเคมีไดฟิโนโคนาโซล 250 อีซี ในอัตรา 20 ซีซี หรือแมนโคเซบ 80% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน จำนวน 2-4 ครั้ง

โรคใบไหม้แผลเล็ก (Southern corn leaf bligt)

เชื้อสาเหตุBipolaris maydis (Nisik) Shoemaker

อาการ : ระยะแรกเกิดจุดเล็ก ๆ สีเขียวอ่อนฉ่ำน้ำ ต่อมาจุดจะขยายออกตามความยาวของใบโดยจำกัดด้านกว้างของแผลขนานไปตามเส้นใบ ตรงกลางแผลมีสีเทา ขอบแผลมีสีน้ำตาล ในกรณีที่เป็นโรครุนแรงแผลจะขยายรวมตัวกันเป็นแผลใหญ่และทำให้ใบแห้งตาย ถ้าเกิดกับต้นกล้าจะเกิดขึ้นพร้อมกันทุกใบ และจะแห้งตายภายใน 3-4 สัปดาห์หลังปลูก แต่ถ้าเกิดกับต้นแก่อาการจะเกิดกับใบล่างก่อน

การแพร่ระบาด : เชื้อโรคระบาดติดไปกับเมล็ดที่เป็นโรค และโดยทางลมหรือฝน เข้าทำลายข้าวโพดแล้วสร้างสปอร์อีกจำนวนมากแพร่กระจายในแหล่งปลูก เชื้อราสามารถเข้าทำลายได้หลายครั้งในแต่ละฤดูปลูก

การป้องกันกำจัด : ใช้พันธุ์ต้านทาน และใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากโรค หมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอ เมื่อพบโรคเริ่มระบาดให้ถอนแล้วเผาทำลาย จากนั้นพ่นด้วยสารไตรโฟรีน 20 อัตรา 60 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

โรคใบจุด (Leaf spot)

เชื้อสาเหตุCurvularia lunara (Wakker) Bord. Var. aeria

อาการ : อาการส่วนใหญ่แสดงให้เป็นบนใบ ระยะแรกเกิดเป็นจุดเล็ก ๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุดสีเขียวอ่อน ต่อมาตรงกลางจุดจะแห้งมีสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน ขอบแผลสีน้ำตาลแดง ในที่สุดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลไหม้ และจะมีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง

การแพร่ระบาด : แพร่ระบาดโดยทางลม ฝน หรือติดไปกับเมล็ด

การป้องกันกำจัด : ใช้พันธุ์ต้านทาน และใช้เมล็ดที่ปราศจากโรค ทำลายแหล่งพืชอาศัย เช่น หญ้าเดือย หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณสูง และปลูกพืชหนาแน่น

แมลงและศัตรูอื่น ๆของข้าวโพด

แมลงและศัตรูอื่น ๆ ที่ทำความเสียหายให้กับข้าวโพดมีหลายชนิดด้วยกัน ในแต่ละระยะการเจริญเติบโตของข้าวโพด

หนอนเจาะลำต้น (corn stem borer; Ostrinia furnacalis Guenee)

เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืน หนอนเจาะกินภายในลำต้น ทำให้ต้นข้าวโพดหักล้มง่ายเมื่อถูกลมพัดแรง นอกจากนี้ยังกัดกินฝักด้วย พบการระบาดมากในไร่ที่มีการปลูกข้าวโพดมานาน หรือในแหล่งที่มีการใช้สารฆ่าแมลงมาก เพราะจะไปทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติ

การป้องกันกำจัด : ในสภาพธรรมชาติมีแมลงที่คอยทำลายหนอนเจาะลำต้นข้าวโพดให้มีปริมาณลดลง ได้แก่ แตนเบียน แมลงหางหนีบ แมลงช้าง เป็นต้น นอกจากนี้ให้เลือกพันธุ์ที่ต้านทานต่อหนอนเจาะลำต้น และถ้ามีการระบาดมากให้ใช้สารฆ่าแมลงกำจัด ได้แก่ triflumuron (Alsystin 25% WP) ในอัตรา 30 กรัม หรือ teflubenzuron (Z-Killer 5% EC) ในอัตรา 20 มิลลิลิตร หรือ chlorfluazuron (Atabron 5% EC) ในอัตรา 20 มิลลิลิตร เป็นต้น

หนอนกระทู้ข้าวโพด  (Corn armyworn; Mythimna separate Walker)

พบการเข้าทำลายตั้งแต่ข้าวโพดอายุประมาณ 20 วัน ไปจนกระทั่งข้าวโพดออกฝัก การระบาดมักรุนแรงในระยะที่ใบใกล้คลี่ และในระยะที่กำลังออกไหม โดยหนอนกัดกินใบ ถ้าระบาดรุนแรงจะเหลือที่ก้านใบ

การป้องกันกำจัด : ในสภาพธรรมชาติมีตัวเบียนที่คอยทำลายในระยะตัวหนอน คือ แมลงวันก้นขน แตนเบียน และแมลงหางหนีบ โดยทั่วไปหนอนกระทู้ไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตมากนัก แต่ถ้าพบมีการระบาดมากให้ใช้สารฆ่าแมลง carbaryl (Sevin 85% WP) อัตรา 45 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

หนอนเจาะฝักข้าวโพด (Corn earworm; Helicoverpa armigera Hubner)

พบการกัดกินบริเวณช่อดอกตัวผู้และเส้นไหมที่ออกใหม่ เมื่อเส้นไหมที่ปลายฝักถูกกัดกินหมด หนอนจะเข้าไปกัดกินปลายฝักต่อไป ถ้ามีการระบาดในระยะที่ยังไม่ได้รับการผสมเกสรเต็มที่จะทำให้การติดเมล็ดไม่สมบูรณ์ ถ้ามีการกัดกินในระยะที่ติดเมล็ดแล้ว ปลายฝักอาจถูกกัดกินบ้างได้ไม่กระทบต่อผลผลิต

การป้องกันกำจัด : แมลงศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แตนเบียนไข่ แมลงวันก้นขน แตนเบียนหนอน และแมลงช้าง ในสภาพทั่วไปไม่มีความจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลง โดยในระยะออกไหมควรหมั่นตรวจแปลงว่ามีหนอนระบากหรือไม่ หากจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงควรใช้ในระยะที่หนอนยังเล็กอยู่ สารฆ่าแมลงได้แก่ fipronil (Ascend 5% SC) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ bifenthrin (Talstar 10%EC) อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

การเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวาน

โดยปกติข้าวโพดหวานจะเก็บเกี่ยวเมื่อมีอายุประมาณ 70-75 วันหลังปลูก  แต่ระยะที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยวที่สุด คือ ระยะ 18-20 วันหลังข้าวโพดออกไหม 50%   (ข้าวโพด 100 ต้นมีไหม 50 ต้น)   ข้าวโพดหวานพันธุ์  ไฮ-บริกซ์ 10  จะเก็บเกี่ยวที่อายุประมาณ 68-70 วัน   และพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3  จะเก็บเกี่ยวที่อายุประมาณ 65-68 วันหลังปลูก แต่ถ้าปลูกในช่วงอากาศหนาวเย็นอายุการเก็บเกี่ยวอาจจะยืดออกไปอีก หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วควรรีบส่งโรงงานหรือจำหน่ายโดยเร็ว    เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ  หากขาดน้ำจะมีผลต่อเมล็ดและน้ำหนักของฝัก

อ้างอิงแหล่งที่มา : สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน, สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตร,www.sarakaset.com


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ