น้ำส้มควันไม้ กับคุณประโยชน์มากมาย
น้ำส้มควันไม้ เป็นผลผลิตที่ได้จากการเผาถ่าน ลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาล มีกลิ่นควันไฟได้จากการควบแน่นควันที่เกิดจากการผลิตถ่านไม้ในช่วงที่ไม้กำลังเปลี่ยนเป็นถ่าน อุณหภูมิในเตาอยู่ระหว่าง 300-400 องศาเซลเชียส สารประกอบต่างๆในไม้ฟืนจะถูกสลายตัวด้วยความร้อนเกิดเป็นสารใหม่ๆ มากมาย
คุณสมบัติของน้ำส้มควันไม้
น้ำส้มควันไม้ แตกต่างจากน้ำส้มสายชูหรือน้ำส้มอึนๆที่ได้จากการหมักหรือสังเคราะห์อื่นๆคือมีสารประกอบหลากหลายกว่า โตยเฉพาะฟินอลซึ่งได้จากการสลายตัวของลิกนิน น้ำส้มควันไม้ที่ได้จากไม้ต่างชนิดก็จะมีคุณสมบัติแตกต่างกัน
น้ำส้มควันไม้มีสารประกอบที่สำคัญ ได้แก่ น้ำประมาณ 85% กรดอินทรีย์ ประมาณ 3% และสารอินทรีย์อื่นๆ อีกประมาณ 12% มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (PH) ประมาณ 3 ความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.012-1.024 โดยจะแตกต่างกันไปตามชนิดของไม้
การใช้ประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้
ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ยังไม่มีงานวิจัยทางวิชาการรองรับ มีแต่เกษตรกรใช้แล้วพูดกันปากต่อปาก เพราะไม่มีการยืนยันประสิทธิภาพกับศัตรูพืชชนิดใดบ้าง ตลอดจนศึกษาถึงความคุ้มทุน ส่วนเรื่องผลกระทบกับผู้บริโภคแบบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชคงไม่มีที่เป็นพิษตกค้าง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ดังนี้
1.อุตสาหกรรม
- ใช้ผลิตสารดับกลิ่นตัว
- ใช้สารผลิตสารปรับผ้านุ่ม ทั้งใช้โดยตรงโดยทางผิวหนัง หรือผสมน้ำอาบ
- ใช่ในอุสาหกรรมย้อมผ้า
- ใช้ผลิตสารป้องกันเนื้อไม้จากราและแมลง
2.ใช้ในครัวเรือน
- ผสมน้ำ 20 เท่า ราดทำลายปลวกและมด
- ผสมน้ำ 100 เท่า ราดโคนต้นไม้รักษาโรคราและโรคเน่า รวมทั้งป้องกันแมลงไมให้วางไข่ ฉีดพ่นถังขยะเพื่อป้องกันกลิ่นและแมลงวัน ใช้ดับกลิ่นในห้องน้ำ ครัว และบริเวณชื้นแฉะ ใช้ดับกลิ่นกรงสัตว์เลี้ยง ใช้หมักขยะสดและเศษอาหารเป็นปุ๋ยไม้ประดับรอบบ้าน โดยต้องผสมน้ำอีก 5 เท่าหลังจากหมักแล้ว 1 เดือน
3.ใช้ในการเกษตร
น้ำส้มควันไม้ที่มีความเข้มข้นสูงมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อที่รุนแรง เนื่องจากมีความเป็นกรดสูงและมีสารประกอบ เช่น เมธานอลและฟีนอล ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อได้ดีเมื่อนำมาเจือจาง 200 เท่า จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และต่อต้านเชื้อแบคทีเรียจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น เนื่องจากได้รับสารอาหารจากกรดน้ำส้ม น้ำส้มควันไม้จึงสามารถนำมาใช้ในการเกษตรได้ดี ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกษตรกรได้นำไปใช้ เช่น
- ใช้ทำปุ๋ยคุณภาพสูง โดยใช้น้ำส้มควันไม้ เข้มข้น 100% หมักกับหอยเซอรี่บด เศษปลา เศษเนื้อหรือกากถั่วเหลือง โดยใช้โปรตีนต่างๆ 1 กิโลกรัมต่อ น้ำส้มควันไม้ 2 ลิตร หมักนาน 1 เดือน แล้วกรองกากออก เวลาใช้ผสมน้ำ 200 เท่า
- ใช้หมักกับสมุนไพร เช่น เมล็ด และใบสะเดา หางไหลแดง ข่าแก่ ตะไคร้ ฯลฯ เพื่อเพิ่มฤทธิ์ของน้ำส้มควันไม้ในการไล่แมลงและป้องกันโรค และสามารถเก็บสารละลายน้ำไว้ได้นานโดยไม่บูดเน่า
- น้ำส้มควันไม้มีความเป็นกรดสูง ดังนั้นก่อนใช้จะต้องทำให้เจือจางจนเกิดสภาวะที่เหมาะสม ภูมิปัญญาเกษตรกรไทยที่ได้นำน้ำส้มควันไม้ไปทดลองใช้
- อัตราส่วน 1:100 หรือผสมน้ำ 100 เท่า ใช้ราดโคนต้นไม้รักษาโรคราและโรคเน่า รวมทั้งป้องกันไม่ให้แมลงวางไข่
- อัตราส่วน 1:200 หรือผสมน้ำ 200 เท่า ใช้ฉีดพ่นใบไม้รวมทั้งพื้นดินรอบๆต้นพืชทุกๆ 7-15 วัน เพื่อขับไล่แมลงและป้องกันเชื้อราและรดโคนต้น เพื่อเร่งการเจริญเติบโต
- อัตราส่วน 1:500 หรือผสมน้ำ 500 เท่า ใช้ฉีดผลอ่อนของพืชเพื่อช่วยขยายให้ผลโตขึ้นและช่วยเพิ่มน้ำตาลในผลไม้
ข้อมูลจาก : เอกสารโครงการวิจัยองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
เรื่อง “โครงการศึกษาทดสอบการผลิตและการใช้ประโยชน์น้ำส้มควันไม้ ปี 2547″ปรีชา เกียรติกระจาย.2529 และวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 6/2548 น้ำส้มควันไม้
บทความอื่นที่น่าสนใจ