การเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน กระจายความเสี่ยง เพิ่มรายได้
การเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน
การทำการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน หัวใจหลักคือการได้รายได้จากการทำกิจกรรมต่างๆ การเลี้ยงปลาจัดว่า เป็นกิจกรรมที่เอื้อต่อกิจกรรมอื่นๆ อย่างมากจะเห็นได้ว่า เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมต่างๆ แล้ว กำไรที่ได้จริงๆ คือ กำไรจากปลา ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้วิธีการเลี้ยงปลากับกิจกรรมต่างๆ
ข้อดีของการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน
- สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้เต็มที่ ที่ดินรอบๆ บ่อ ใช้ปลูกพืชผัก และสร้างคอกเลี้ยงสัตว์ ส่วนน้ำในบ่อนอกจากใช้เลี้ยงปลาแล้วยังปลูกพืชอื่นๆ ได้อีก เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด
- เศษเหลือของพืชและสัตว์สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก เช่น มูลสัตว์เศษอาหาร เศษผักหญ้าต่างๆ ซึ่งตกลงไปในบ่อก็จะกลายเป็นอาหารปลาและเป็นปุ๋ยสำหรับเดิมบ่อปลา ขณะเดียวกันโคลนเลนก้นบ่อก็สามารถนำมาปลูกพืชต่างๆ ได้ดี การนำเศษเหลือ ของเสียต่างๆ กลับมาใช้อีก เป็นการกำจัดของเสีย และช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น คำาอาหารปลา ค่าอาหารสัตว์ ค่าปุ๋ย
- เป็นการเพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ สามารถใช้บริโภคภายในครอบครัวถ้าเหลือก็สามารถนำออกจำหน่าย เกิดเป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อดำเนินการต่อไป และเป็นการใช้แรงงานภายในครอบครัวให้เป็นประโยชน์ ลดอัตราเสี่ยงต่อการขาดทุนได้ดีกว่าการเลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกพืชเพียงอย่างเดียวและเป็นการลดตันทุน เพราะกิจกรรมแต่ละอย่างต้องพึ่งพากัน
- ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในการจำหน่ายผลผลิตจากฟาร์มตลอดปี และไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และนำไปสู่ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนต่อไป อีกทั้งยังลดความเสี่ยงเนื่องจากความแปรปรวนของสภาพลมฟ้าอากาศราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอนและการระบาดของศัตรูพืช
ลักษณะการเลี้ยงปลาแบบผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์
การเลี้ยงปลาแบบผสมผสานหากจำแนกตามที่ตั้งของโรงเรือนเลี้ยงสัตว์จะพบว่ามีสองลักษณะ คือ
- แบบสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ไว้เหนือบ่อเลี้ยงปลา เป็นแบบที่นิยมกันมากที่สุด เพราะสะดวกและสามารถระบายมูลสัตว์จากโรงเรือนลงสู่บ่อปลาโดยตรงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในโรงเรือนบนบ่อปลาจะได้ประโยชน์จากบ่อปลาในการช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้ต่ำลง สัตว์จึงไม่เครียด ทำให้กินอาหารได้มากขึ้นโตเร็วและต้านทานโรคได้ดี ทั้งยังดูแลรักษาความสะอาดได้ง่าย ประหยัดแรงงาน ข้อเสีย คือ ต้นทุนค่าสร้างโรงเรือนสูงขึ้น เนื่องจากต้องใช้ไม้ทำเสา และวัสดุปูพื้นเพิ่มขึ้น โรงเรือนลักษณะนี้เหมาะสำหรับเลี้ยงสัตว์เล็ก เช่น เป็ดหรือไก่เท่านั้น
- แบบสร้างโรงเรือนแยกออกไปจากบ่อปลา โดยมีรางระบายมูลสัตว์จากโรงเลี้ยงมาสู่บ่อปลา แบบนี้จะพบมากในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ใหญ่ เช่น สุกร ที่สร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อยู่ก่อนแล้วจึงขยายเนื้อที่เลี้ยงปลาโดยการขุดบ่อในภายหลัง
เกษตรกรที่จะลงทุนเลี้ยงปลาผสมผสานโดยการสร้างโรงเรือนและขุดบ่อเลี้ยงปลานั้น ขอแนะนำให้สร้างตามแบบแรก ถึงแม้ว่าต้องลงทุนเพิ่มขึ้นแต่ผลตอบแทนในระยะยาวจะคุ้มค่าเพราะประหยัดพื้นที่และประหยัดแรงงานมากกว่า สำหรับเกษตรกรที่มีโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว หากต้องการเลี้ยงปลาเพิ่มขึ้นควรใช้แบบที่สอง
พันธุ์ปลาที่นิยมนำมาใช้เลี้ยงแบบปล่อยรวม
พันธุ์ปลาทุกชนิด ที่สามารถเลี้ยงเจริญเติบโตได้ดีในบ่อ สามารถนำมาใช้เลี้ยงแบบผสมผสานได้ แต่ที่นิยมเลี้ยงกันมากในปัจจุบัน มี 4 ชนิดคือ ปลานิล ปลาสวาย ปลาตะเพียน และปลาดุกอุยเทศ และมักนิยมปล่อยปลาลงเลี้ยงในบ่อเดียวกันมากกว่า 1 ชนิด เช่น เลี้ยงปลานิล ร่วมกับปลาสวาย ปลาตะเพียนกับ ปลานิล หรือเลี้ยงรวมกันทั้ง ปลานิล ปลาสวาย และปลาตะเพียน ส่วนปลาดุกบิ๊กอุย นิยมเลี้ยงเพียงชนิดเดียวในบ่อ อัตราการปล่อยปลาลงเลี้ยง ส่วนใหญ่ลูกปลาทุกชนิดที่ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อ จะมี ขนาด 1.0-1.5 นิ้ว เนื้อที่ 1 ไร่ จะปล่อยปลาลงเลี้ยงรวมกัน ดังนี้ คือ ปลานิล 4,000-5,000 ตัว ปลาสวาย 2,000-2,500 ตัว ปลาตะเพียน 1,000-1,500 ตัว
อัตราส่วนการปล่อยปลาลงเลี้ยงนี้ จะเลี้ยงกันในบ่อขนาดใหญ่ประมาณ 15 ไร่ โดยเลี้ยงไก่ ประมาณ 10,000 ตัว หรือ สุกร 220 ตัว พร้อมกันไปด้วย การปล่อยปลาลงเลี้ยงนี้พบว่ามีข้อแตกต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับความต้องการของเกษตรกรแต่ละราย หากเกษตรกรต้องการร่นระยะเวลาการเลี้ยงให้สั้นลง และต้องการปลาที่มีขนาดใหญ่ ก็ควรลดอัตราปล่อยลงอีก 20-25% หากต้องการยึดระยะการเลี้ยงให้นานออกไป และไม่ต้องการปลาตัวใหม่มากนัก เมื่อถึงเวลาจับก็เพิ่มอัตราปล่อยมากกว่านี้ได้อีก สำหรับปลาดุกอุยเทศ มักนิยมเลี้ยงเพียงชนิดเดียว และมักเลี้ยงในบ่อที่มีขนาด 5-10 ไร่ จะปล่อยลูกปลาดุกบิ๊กอุย ขนาด 1 นิ้ว ไร่ละ 30,000 – 40,000 ตัว ในบ่อขนาด 5 ไร่ จะปล่อยลูกปลาประมาณ 200,000 ตัว โดยเลี้ยงไก่เนื้อ จำนวน 5,000 ตัวควบคู่ไปด้วย
สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงแบบยังชีพ ควรปล่อยปลาให้น้อยกว่านี้ โดยปกติในบ่อปลา ขนาด 1 ไร่ พร้อมกับการเลี้ยงสุกรไว้ 5 ตัว หรือ ไก่ หรือเป็ด 100 ตัว ควรปล่อยปลาชนิดต่าง ๆ ลงเลี้ยงประมาณ 1,000-1,200 ตัว ก็เพียงพอสำหรับการเลี้ยงปลาประมาณ 8 เดือน และได้ปลาขนาดใหญ่ที่เหมาะสมสำหรับการบริโภคหรือขาย เพื่อเป็นรายได้เสริมอย่างดี หากไม่สามารถเลี้ยงสุกร หรือเป็ด หรือไก่ ได้ตามจำนวนที่แนะนำ ก็ลดจำนวนลงได้ แต่ควรใส่ปุ๋ยยูเรีย ลงในบ่อปลาในอัตราประมาณ 4 กิโลกรัม/ไร่ ทุกสัปดาห์ เพื่อเสริมประสิทธิภาพของมูลสัตว์ให้ดีขึ้น
ตัวอย่าง แนวทางการเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงไก่
การเลี้ยงผสมผสานแบบนี้ มีจุดประสงค์คล้ายคลึงกับการเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงเป็ด คือใช้มูลไก่เป็นอาหารของปลาที่เลี้ยง หรือใช้เป็นปัยสำหรับการเจริญเติบโตของอาหารธรรมชาติและเป็นอาหารของปลาอีกทอดหนึ่ง
ลักษณะบ่อปลาและเล้าไก่
บ่อที่ใช้เลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงไก่นั้นใช้บ่อดินที่มีลักษณะเดียวกับบ่อเลี้ยงปลา โดยทั่วไปควรเป็นรูปสีเหลี่ยมผืนผ้า มีความลึกประมาณ 1.50-2.00 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้โดยเฉลี่ย 1-1.50 เมตร ในช่วงที่มีการเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงไก่
เล้าไก่ ซึ่งเป็นอาคารและโรงเรือนควรสร้างคร่อมบ่อที่เลี้ยงปลา เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่เดียวกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการเหมาะสมเมื่อไก่ที่เลี้ยงถ่ายมูลหรือเศษอาหารตกลงในบ่อเป็นประโยชน์ต่อปลาโดยตรง โดยมิต้องเสียเวลาในการทำความสะอาดเป็นการตัดภาระในด้านค่าใช้จ่าย สำหรับรูปร่างของเล้าไก่นั้นก็ควรสร้างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเช่นเดียวกัน พื้นเล้าไก่สูงกว่าระดับผิวน้ำในบ่อเฉลี่ย 1.20 เมตร
ขั้นตอนการเลี้ยงไก่ควบคู่กับการปล่อยปลา
- การนำลูกไก่มาเลี้ยงควรเริ่มหลังจากเตรียมบ่อปลาและน้ำมีสีเขียวดีแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้มูลไก่ตกลงสู่บ่อปลา ซึ่งลูกปลาที่เพิ่งปล่อยและอาหารธรรมชาติที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ลูกปลาจะได้กินเป็นอาหารอย่างต่อเนื่อง
- การเลี้ยงไก่ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้อัตราการรอดตายสูงที่สุด หากไก่มีอัตรารอดสูงนอกจากผู้เลี้ยงจะได้รับกำไรจากไก่สูงแล้ว ผลผลิตปลาก็จะสูงตามไปด้วย
- อาหารและมูลไก่ในช่วง 5 สัปตาห์แรกนี้ จะเป็นอาหารที่มีคุณค่สูงต่อลูกปลา ลูกปลาจะสามารถกินมูลไก่ได้โดยตรง การเลี้ยงปลาสามารถเริ่มเลี้ยงไปพร้อมๆ กัน กับการเลี้ยงไก่
- ควรเลือกลูกปลาที่มีลักษณะแข็งแรง ขนาดไล่เลี่ยกัน ขนาดปลาที่จะใช้เลี้ยงเริ่มต้นควรเป็นลูกปลาตัวโตเพื่อให้ได้อัตรารอดตายที่สูง ขนาดของลูกปลากินพืชและปลาที่กินอาหารไม่เลือก ควรเป็น 2 นิ้ว และขนาดลูกปลาดุกควรเป็น 1 นิ้ว
อาหารและการให้อาหาร
ในการเลี้ยงแบบผสมผสานกับการเลี้ยงไก่นั้น โดยปกติถ้าจัดอัตราส่วนที่เลี้ยงให้เหมาะสมต่อกันแล้วก็ไม่จำเป็นต้องให้อาหารสมทบ เพราะปลาได้อาศัยกินมูลไก่และเศษอาหารที่ไก่กินตกหล่นไปในบ่อ และอาหารธรรมชาติอื่นๆ เพียงพอ เช่น แพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ ตลอดจนตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลง ฯลฯ
ส่วนในระยะแรกที่ปล่อยพันธุ์ปลาเลี้ยงในบ่อนั้นลูกปลายังมีขนาดเล็กไม่แข็งแรง และไม่คุ้นเคยกับมูลไก่ที่ใช้เป็นอาหาร ดังนั้น จึงควรใช้รำข้าวละเอียดโดยโปรยให้ลูกปลากิน หรือใช้อาหารผสม เช่น ปลายข้าวต้มผสมรำและปลาปนปั้นเป็นก้อนโยนให้ปลากิน หรือจะใช้อาหารที่มีราคาถูก เช่น กากถั่วหรือเศษอาหารจากภัตตาคารก็ได้ ปริมาณอาหารสมทบที่ให้ควรลดลงตามลำดับและงดเมื่อปลาที่เลี้ยงโตขึ้นและคุ้นกับมูลไก่ที่ใช้เป็นอาหารแล้ว
การจับปลาเพื่อจำหน่าย
ในกรณีที่เลี้ยงปลานิลกับไก่นั้น จะต้องคัดจับปลานิลขนาดใหญ่ออกจำหน่ายเมื่อเลี้ยงเป็นเวลา 4-5 เดือน เพราะปลานิลที่เลี้ยงไว้จะออกลูกและเพิ่มอัตราความหนาแน่นมากขึ้น ทำให้ปลาส่วนใหญ่ไม่เจริญเดิบโตหรือแคระแกร็นการคัดจับปลานิลทำได้ง่าย โดยใช้ข่ายในลอนขนาดช่องตา 6-8 เซนติเมตร ในช่วงตอนบ่ายกำหนดเวลาให้พอเหมาะกับเวลาที่จะนำปลาไปจำหน่ายให้แก่ผู้ซื้อในตลาด การคัดจับปลานิลต้องปฏิบัติเป็นประจำสำหรับบ่อขนาดใหญ่เนื้อที่ตั้งแต่ 3-5 ไร่ ส่วนการเลี้ยงปลานิลกับปลาสวายหรือในการเลี้ยงปลาแบบรวม เมื่อเลี้ยงปลาเป็น เวลา 6-8 เดือน ก็ควรจะใช้อวนขนาดใหญ่คัดจับปลาที่มีขนาดโตออกจำหน่ายเสียบ้างเพื่อลดอัตราความหนาแน่น และทำการวิดน้ำจับปลาทั้งหมดเมื่อเลี้ยงปลาครบรอบ 1 ปี หรือรอจับในช่วงเวลาที่ปลามีราคาสูงขึ้น
แนวโน้มการเลี้ยงปลาแบบผสมผสานในอนาคต
จากผืนแผ่นดินซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดและคงที่ แต่ความต้องการใช้ประโยชน์กลับเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา เนื่องจากการดิ้นรนเพื่อแสวงหาปัจจัยสี่อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิต การเลี้ยงปลาแบบผสมผสานเป็นการเลี้ยงปลาอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะช่วยพัฒนาพื้นที่ให้เกิดศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ลดปัญหาขาดแคลนอาหารโปรตีน ทั้งยังก่อให้เกิดรายได้ และช่วยให้สภาพแวดล้อมมีความสมดุล ไม่ส่งผลกระทบต่อการเสริมสร้างมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถใช้น้ำเพื่อการเลี้ยงปลา ขอบคันบ่อเป็นที่เลี้ยงสัตว์บกและปลูกพืชผัก จึงเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าในที่สุด
แหล่งอ้างอิงข้อมูล : สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการประมง, กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
บทความอื่นที่น่าสนใจ