การป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว แบบผสมผสาน
ปัจจุบันมีศัตรูมะพร้าวที่กำลังระบาดและเป็นปัญหาในการปลูกมะพร้าว จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ หนอนหัวดำมะพร้าว เมลงดำหนามมะพร้าว ด้วงแรดมะพร้าว และด้วงงวงมะพร้าว
สำหรับการจัดการศัตรูมะพร้าว เพื่อให้ได้ผลดีและไม่ให้กลับมาระบาดใหม่ ควรใช้วิธีการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวแบบผสมผสานตั้งแต่ 2 วิธีขึ้นไปมาใช้ร่วมกันเพื่อลดปริมาณศัตรูมะพร้าวให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิด ความเสียหาย
ด้วงงวงมะพร้าว
เป็นศัตรูมะพร้าวที่ทำลายใบมะพร้าวในระยะตัวหนอนเท่านั้นโดยกัดกินส่วนอ่อน เช่น ยอดอ่อนหรือโคนมะพร้าว เป็นต้น และเจริญเติบโตอยู่ภายในลำต้นทำให้เกิดแผลเน่าภายใน ส่งผลให้เกิดอาการเฉาหรือยอดหักพับ ยอดเน่า และยืนต้นตายในที่สุดมีวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
- การใช้วิธีกล ใช้กับดักพีโรโมนล่อด้วงงวงเพื่อนำไปทำลาย
- การใช้วิธีเขตกรรม รักษาความสะอาดบริเวณสวนป้องกันและกำจัดด้วงงวงมะพร้าวอย่าให้ระบาดในสวน
- ไม่ควรปลูกมะพร้าวแบบโคนลอยและอย่าให้ เกิดแผล เพราะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงวางไข่ ถ้าพบแผลให้ใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วหรือชันผสมน้ำมันยาง ทาบริเวณโคนต้นหรือลำต้นมะพร้าว และบริเวณที่เกิดแผล เพื่อป้องกันการวางไข่
- การใช้สารเคมี ใช้สารไดอะซินอน 60% อีซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดที่บริเวณแผลหรือรูเจาะถ้าพบ ตัวเต็มวัยที่คอมะพร้าวควรราดสารบริเวณบาดแผลที่เป็น เนื้อเยื่ออ่อน พร้อมอุดรูด้วยดินน้ำมัน หรือดินเหนียว
หนอนหัวดำมะพร้าว
เป็นศัตรูมะพร้าวที่ทำลายใบมะพร้าวในระยะตัวหนอนเท่านั้น โดยแทะกินผิวใบบริเวณใต้ใบแก่ หากการทำลายรุนแรงจะทำให้ต้นมะพร้าวตายได้ ปัจจุบันพบว่าหนอนหัวดำมะพร้าวทำลายพืชหลายชนิด เช่น มะพร้าว ตาล ปาล์มน้ำมัน
เป็นต้น มีวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
- การใช้วิธีกล โดยตัดทางใบล่างที่ถูกทำลายลงมาทำลายทันที
- การใช้ชีววิธี ได้แก่
- ใช้เชื้อบีที (Bt) อัตรา 80 – 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมด้วยสารจับใบ 5 มิลลิลิตร ฉีดพ่นต้นละ 3 – 5 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม จำนวน 3 ครั้ง ห่างกัน 7 – 10 วัน (ไม่ควรฉีดพ่นในขณะที่มีแสงแดดจัด)
- ปล่อยแตนเบียนหนอนบราคอน อัตราไร่ละ 200 ตัว จำนวน 12 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 15 วัน
- ปล่อยแนเบียนไข่ตรโคแกรมมา อัตราไร่ละ 20,000 ตัว จำนวน 12 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 15 วัน
- การใช้สารเคมี ได้แก่
- ต้นมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ใช้สารอิมาเม็กตินเบนโซเอท 92% อีซี ฉีดเข้าลำต้น ในอัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น (วิธีนี้ห้ามใช้กับต้นมะพร้าว ที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร รวมทั้งมะพร้าวน้ำหอมมะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ทำน้ำตาล ทุกความสูง)
- ต้นมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร ให้ฉีดพ่นทางใบด้วยสารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% ดับเบิ้ลยูจีอัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร, หรือคลอแรนทรานิลิโพรล 17% เอสซี หรือสปีนโนแซด 12% เอสซี หรือลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (เลือกสารชนิดใด ชนิดหนึ่ง โดยฉีดพ่นทางใบมะพร้าว จำนวน 1 – 2 ครั้ง ห่างกัน 15 วัน
แมลงดำหนามมะพร้าว
เป็นศัตรูมะพร้าวที่ทำลายใบมะพร้าวทั้งในระยะตัวหนอน และตัวเต็มวัย โดยกัดกินใบอ่อนที่ยังไม่คลี่ ทำให้ใบที่ถูกทำลาย มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลอ่อนเรียกว่า “โรคหัวหงอก” ในมะพร้าว ต้นเล็ก ถ้าระบาดรุนแรงทำให้ต้นตายได้ ส่วนในมะพร้าว ต้นใหญ่ จะทำให้ผลผลิตลดลง มีวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
- การใช้วิธีกล ในมะพร้าวต้นเตี้ยให้ตัดยอดที่ถูกแมลงกัดกิน มาเก็บไข่ หนอนและตัวเต็มวัยไปทำลาย
- ไม่เคลื่อนย้ายต้นกล้ามะพร้าวหรือพืชตระกูลปาล์ม จากแหล่งที่มีการระบาดไปยังแหล่งที่ไม่มีการระบาด
- การใช้ชีววิธี ได้แก่
- ใช้เชื้อราเขียวเมตตาไรเซียม อัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ ฉีดพ่นบนยอดมะพร้าว เพื่อกำจัดหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัยของแมลงดำหนามมะพร้าว
- ปล่อยแมลงหางหนีบ บริเวณยอดมะพร้าวเพื่อกินไข่หนอน และดักแด้ของแมลงดำหนามมะพร้าว อัตรา 50 ตัว ต่อยอด
- ปล่อยแตนเบียนหนอนแมลงดำหนามมะพร้าวอะซิโคเดส อัตราไร่ละ 5 มัมมี่ หรือ 500 เมตรต่อจุด
- การใช้สารเคมี ได้แก่
- ต้นมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ใช้สารอิมาเม็กตินเบนโซเอท 92% อี่ซี ฉีดเข้าลำต้นในอัตรา 50 มิลลิลิตรต่อต้น
- มะพร้าวต้นเล็ก ใช้สารอิมิดาโคลพริด 70% ดับเบี้ลยูจี, ไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี, ไดโนที่ฟูแรน10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 4, 4, 10 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ต่อต้น (เลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่ง) ราดบริเวณยอดและรอบคอมะพร้าว ใช้สารคาร์แทปไฮโดรคลอไรด์ 4% จีอาใส่ถุงผ้าที่ดัดแปลง คล้ายถุงชา อัตรา 30 กรัมต่อต้นซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดแมลงดำหนามมะพร้าวได้นาน ประมาณ 1 เดือน
ด้วงแรดมะพร้าว
เป็นศัตรูมะพร้าวที่ทำลายใบมะพร้าวในระยะตัวเต็มวัยเท่านั้น โดยเข้าไปเจาะกัดกินภายในยอดอ่อน ทำให้ใบขาดแหว่งลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือหักพับ ส่งผลให้พืชชะงักการเจริญเติบโต การติดผลน้อยลงและ แผลที่ถูกเจาะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้าไป ขยายพันธุ์ต่อ ทำให้ยอดเน่าและยืนต้นตายในที่สุด มีวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
- การใช้วิธีกล ใช้กับดักฟีโรโมน (เอททิล – 4 – เมททิลออคตาโนเอท) ล่อด้วงแรตมะพร้าวเพื่อนำไปทำลาย
- การใช้วิธีเขตกรรม กำจัดแหล่งขยายพันธุ์ เช่นกองปุ๊ยหมัก ปุ๊ยคอก กองขยะ เป็นต้น รวมทั้งส่วนของ ลำต้นและตอมะพร้าวที่โค่นทิ้งไว้ออกไปจากบริเวณสวน
- การใช้ชีววิธี ใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเขียม ใส่ไว้ ตามแหล่งขยายพันธุ์
- การใช้สารเคมี ได้แก่
- ใช้ลูกเหม็นใส่บริเวณคอมะพร้าว ทางใบละ 2 ลูก ต้นละ 6 – 8 ลูก
- ใช้สารฆ่าแมลงไดอะซินอน 60% อีซี หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% อีซี ชนิดใดซนิดหนึ่ง อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณคอมะพร้าวตั้งแต่ โคนยอดอ่อนลงมาให้เปียกโดยใช้ปริมาณ 1 – 1.5 ลิตร ต่อตัน ทุก 15 – 20 วัน ควรใช้ 1 – 2 ครั้ง ในช่วงระบาด
แหล่งข้อมูลและสอบถามข้อมูลได้ที่ :
- กรมส่งเสริมการเกษตร www.doae.go.th
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ