การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากผลไม้สุก
ผลไม้ทุกชนิดสามารถนำมาใช้ได้แต่ต้องเป็นผลไม้สุกและไม่เน่า สามารถใช้ร่วมกันหลาย ๆชนิดก็ได้ แต่เมื่อหมักแล้วและมีคุณภาพดีที่สุด ได้แก่ กล้วยน้ำหว้า มะละกอ ฟักทอง หรือผลไม้ที่มีความหวานทุกชนิดถ้าผลไม้มีความสะอาดดีพอแล้วไม่ควรล้างหรือถ้าล้างต้องผึ่งให้แห้งก่อนนำไปใช้
วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้
- ผลไม้สุก
- น้ำตาลทรายแดง
- โอ่งหรือโหลปากกว้าง
- กระดาษบรุ๊ฟ
- เชือกฟาง
- ขวดพลาสติกชนิดฝาปิดเป็นเกลียว
อัตราส่วน ผลไม้สุก 1 กิโลกรัมต่อน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม ในกรณีที่ผลไม้มีความหวานมากให้ใช้ผลไม้สุก 2-3 กิโลกรัมต่อน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม
ขั้นตอนและวิธีการทำ
- หั่นผลไม้สุกให้มีขนาดประมาณ 2- 4 เซนติเมตร
- นำผลไม้ที่หั่นแล้วไปกองรวมกันและทำให้เป็นกองแบน ๆ แล้วโรยด้วยน้ำตาลทรายแดงลงไปให้ทั่วทั้งกอง
- ใช้มือคลุกเคล้าผลไม้ให้เข้ากับน้ำตาลทรายแดง ทำสลับไปมาประมาณ 2-3 ครั้ง จนน้ำตาลสัมผัสกับผลไม้ให้ทั่วทั้งหมด
- หลังจากคลุกเคล้าผลไม้กับน้ำตาลเรียบร้อยแล้ว นำไปบรรจุในโหลปากกว้าง กดให้เรียบ
- ใช้อิฐหรืออิฐบล็อกห่อหุ้มด้วยถุงพลาสติกวางทับเพื่อไม่ให้ชิ้นส่วนของผลไม้ลอย
- ปิดฝาโหลด้วยกระดาษบรุ๊ฟ และมัดด้วยเชือกฟาง นำไปหมักทิ้งไว้ 8-12 วัน
- หลังครบกำหนดรินใส่ขวดพลาสติกให้ได้ 2 ใน 3 ของขวด ปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่มและนำไปใช้
อัตราการใช้ น้ำหมักจากผลไม้สุก 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร เก็บไว้ใช้ได้นาน 3 เดือน
ข้อบ่งใช้
- ผสมน้ำให้สัตว์ดื่มช่วยลดกลิ่นเหม็นของมูลและปัสสาวะ
- ผสมอาหารสัตว์ เพิ่มรสชาติของอาหารและช่วยการย่อยได้ของอาหารดีขึ้น
- ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์
- รดกองปุ๋ยหมัก ช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นและการย่อยสลายของวัสดุดีขึ้น
- ผสมกับจุลินทรีย์ตัวอื่น ๆ รดหรือพ่นคอกสัตว์
- เศษที่เหลือจากการหมักสามารถนำไปให้สุกรกินได้
ที่มา | Youtrube Organic Farm TV ตอน วิธีทำน้ำหมักผลไม้ (EM) สำหรับใช้ในการทำเกษตร
บทความอื่นที่น่าสนใจ